Head GISDTDA

ภัยแล้ง..!! กับการประเมินสถานการณ์จากแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยดาวเทียม

ภัยแล้ง..!! กับการประเมินสถานการณ์จากแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยดาวเทียม 

.

เรื่องของ “ภัยแล้ง” ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ถูกพูดถึงกันอย่างมาก บ้างก็ว่าจะแล้งมากเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ บ้างก็ว่าไม่รุนแรง แต่ถึงอย่างไรทุกภาคส่วนก็จะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หลายหน่วยงานด้านน้ำได้มีการติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องรวมถึงนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในเขื่อนขนาดใหญ่และระบบชลประทานเพื่อไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง แต่ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่จะเป็นกำลังเสริมในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภครวมถึงการเกษตร คือ “แหล่งน้ำขนาดเล็ก”

.

ข้อมูลของแหล่งน้ำขนาดเล็กสามารถติดตามได้ด้วยดาวเทียม โดย GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้ดาวเทียม Landsat-8 , Landsat-9 และ Sentinel -1 ในการวิเคราะห์พื้นที่เพื่อหาปริมาณน้ำสะสมคงเหลือ ณ ช่วงเวลานั้นๆ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ในการติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำผิวดินขนาดเล็ก ที่มีขนาดมากกว่า 2 ไร่ พบข้อมูลจำนวน 139,819 บ่อ มีปริมาณน้ำคงเหลือเพียง 1,385 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26.92%จากความจุทั้งสิ้น 5,144 ล้าน ลบ.บ. นั่นหมายความว่าปริมาณน้ำคงเหลือค่อนข้างน้อยมาก หากฝนทิ้งช่วงนานไปกว่านี้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น รวมถึงอาจจะต้องเตรียมรับมือในกรณีที่อาจจะมีฝนมากกว่าปกติซึ่งเกษตรกรอาจจะต้องระวังเรื่องผลผลิตจะเสียหายจากกรณีที่ฝนมากกว่าปกติในบางพื้นที่ช่วง ก.ค.-ก.ย. อีกด้วย

.

เป็นที่รู้กันว่าถ้าช่วงปีไหนเป็น “เอลนีโญ” ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังในเรื่องของภัยแล้ง แต่ถ้าปีไหนเป็น “ลานีญา” ก็ต้องเฝ้าระวังในเรื่องของปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ GISTDA ได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือ ณ ช่วงเวลาวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าสู่หน้าแล้ง เปรียบเทียบ 3 ปีด้วยกันเพื่อให้เห็นความต่างได้ดังนี้

 ปี พ.ศ. 2561 (เอลนีโญ) เกิดภัยแล้งค่อนข้างหนัก ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศน้อยกว่า 30% สูงถึง 568 อำเภอ

 ปี พ.ศ. 2565 (ลานีญา) มีปริมาณฝนมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศ ที่มีน้อยกว่า 30% มี 403 อำเภอ

 ปี พ.ศ. 2566 (เอลนีโญ) ปีนี้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศน้อยกว่า 30% จำนวน 528 อำเภอ

นั่นหมายความว่า หลายพื้นที่ในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่ช่วงเวลานี้หลายพื้นที่มีฝนตกลงมา ถึงแม้ว่าปีนี้จะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ก็ยังไม่เด่นชัดมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง พื้นที่ ณ ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเข้าใกล้ไปทุกขณะ แหล่งน้ำหลายแห่งเริ่มตื้นเขิน แห้งขอด นั่นเป็นสัญญาณว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

.

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้า สามารถคาดการณ์จากปัจจัยต่างๆได้ดังนี้

 ช่วงเดือนกรกฎาคม จะมีฝนมากกว่าค่าฝนปกติ 2% โดยฝนที่ตกมากกว่าปกติจะกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครพนม บึงกาฬ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคเหนือตอนบน

  ช่วงเดือนสิงหาคม จะมีฝนมากกว่าค่าฝนปกติ 7% โดยฝนที่ตกมกกว่าปกติอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

 ช่วงเดือนกันยายน จะมีฝนน้อยกว่าค่าฝนปกติ 10%

 ช่วงเดือนตุลาคม จะมีฝนมากกว่าค่าฝนปกติ 7% โดยฝนที่ตกมกกว่าปกติอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

จากการคาดการณ์การกระจายตัวของฝนและความผิดปกติของฝนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติในช่วงระยะ 4 เดือน พบว่าพื้นที่ภาคกลางตอนล่างรวมไปถึงพื้นที่ทางด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกน้อยกว่าปกติเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะฝนเดือนกันยายน ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มที่จะมีฝนเข้ามาเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กน้อยลงไปด้วยเนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำเหลือโดยประมาณในแต่ละอำเภอเหลือน้อยกว่า 30% อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยดาวเทียมอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วนเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการด้านน้ำต่อไป

 

 

 

 

 

 

Nattakarn Sirirat 21/6/2023 1
Share :