รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2022 ชี้ไทย รั้งอันดับ 44 จาก 163 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 1 ของ ASEAN
.
ในแต่ละปีจะมีการจัดลำดับจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่แสดงถึงศักยภาพของประเทศในแต่ละด้านต่าง ๆ มากมาย 1 ในนั้นคือ SDG ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบทิศทางสำหรับการพัฒนาของโลก ซึ่งจาก Sustainable Development Report 2022 หรือ รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2022 ผลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 44 จาก 163 ประเทศทั่วโลก และขึ้นแท่นเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (https://dashboards.sdgindex.org/profiles/thailand)
.
ข้อมูลจากรายงานฯระบุว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการพัฒนาที่ดีขึ้นในมิติของการขจัดความยากจน ซึ่งไม่ได้มองที่ความรวย ความจน หรือ เงินฝากในบัญชีธนาคารเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะเป็นสิ่งการันตีได้ คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน มีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม ส่งเสริมนวัตกรรมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุข
.
อย่างไรก็ตาม รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจไม่สามารถสะท้อนถึงความมั่นคงในการพัฒนาได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทุกระดับ ยังมีผู้คนบางกลุ่มและบางแห่งที่ยังต้องการการพัฒนาในแต่ละด้านที่มีความแตกต่างกันไป และจากจุดนี้เองที่ทำให้ GISTDA พยายามคิดค้น ออกแบบ และพัฒนาเครื่องมือด้านภูมิสารสนเทศอัจฉริยะ โดยยึดเป้าหมายที่ว่า จะต้องนําส่งคุณค่าจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศสู่สังคมในทุกมิติ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ให้ดีขึ้น ประกอบกับการให้ความสำคัญต่อพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนโยบายที่ออกแบบบนข้อมูลจำนวนมหาศาลและหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการพัฒนา Platform ที่จะมารองรับการผสมผสานกันของข้อมูลและการวิเคราะห์เหล่านี้ด้วยเครื่องมือและเทคนิคใหม่ ๆ
.
การผลักดันการใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายถือเป็นสิ่งสำคัญ บ่อยครั้งที่นโยบายสาธารณะมักถูกนําไปใช้แก้ปัญหาด้านหนึ่ง แต่ไปกระทบหรือสร้างปัญหาด้านอื่นเพิ่มขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่าการทํานโยบายในระดับประเทศเป็นแบบ One Size Fit All ทำให้การเจาะจงลงลึกถึงปัญหาที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเป็นไปได้ยาก แต่ถือเป็นโอกาสและเวลาที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ หน่วยงานกําลังให้ความสําคัญกับพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งจะทําให้มีนโยบายใหม่ ๆ ออกมาเป็นจํานวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาเพื่อด้านเศรษฐกิจเพื่อให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และความพยายามที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ผนวกกับการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้าน Big Data Analytic , Machine Learning เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทําให้ GISTDA เล็งเห็นถึงคุณค่าในการสร้างประโยชน์จากข้อมูลที่มีให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า AIP : Actionable Intelligence Policy กระบวนการประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด เพื่อการกำหนดนโยบายที่นำไปปฎิบัติได้จริง วิเคราะห์และผสมผสานข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบสารสนเทศจากหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านการวิเคราะห์ด้วย Model ทางคณิตศาสตร์เพื่อการหาคําตอบที่ซับซ้อนขึ้น อาทิ ภาพรวมในมิติเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมแสดงผลออกมาในรูปแบบของดัชนีชี้วัดของประเทศ (Indicator) ในหลากหลายมิติ ดัชนีชี้วัดเหล่านี้ทําให้รับทราบและรับรู้ได้ว่ามิติใดของประเทศไทยที่มีปัญหา และจําเป็นที่จะต้องได้รับการบรรเทาและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมถึงชี้ให้เห็นถึงข้อมูลและบริบทต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งสามารถนําไปสู่การสร้างนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ตรงจุดอย่างแม่นยํา เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถมองเห็นภาพสภาวการณ์ของพื้นที่ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงการคาดการณ์อนาคตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง สามารถนำเสนอแนวทางการดำเนินงานและนโยบายได้หลากหลายครอบคลุมมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างทันสถานการณ์และถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง" ต่อไป