Head GISDTDA

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565 (1) THEOS -2 เสร็จสมบูรณ์ พร้อมสำหรับภารกิจในห้วงอวกาศ

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565
.
I. THEOS -2 เสร็จสมบูรณ์ พร้อมสำหรับภารกิจในห้วงอวกาศ
.
โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 เป็นโครงการด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีระบบวางแผน ระบบการตัดสินใจ ระบบการติดตาม ระบบการวิเคราะห์ และระบบการรายงานข้อมูลสถานการณ์เชิงพื้นที่ของประเทศหรือในรูปแบบแผนที่อย่างละเอียดและทันต่อเหตุการณ์ ในอนาคต ข้อมูลจากดาวเทียมและภูมิสารสนเทศของระบบ THEOS-2 จะช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถวางนโยบายพัฒนาประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
ภายใต้โครงการ THEOS-2 จะมีดาวเทียม 2 ดวง ประกอบด้วยดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงหลัก ปัจจุบันดำเนินการสร้างและทดสอบแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเตรียมนำส่งต่อไป ส่วนดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่วิศวกรไทยร่วมออกแบบและพัฒนา ซึ่งได้ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเช่นกัน ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ดาวเทียม THEOS-2A ถูกนำส่งมายังประเทศไทย เพื่อทำการทดสอบระบบขั้นสุดท้าย และปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมบรรจุเพื่อรอการนำส่งในเร็วๆนี้ นอกจากนั้นภายใต้โครงการ THEOS-2 ยังประกอบด้วยการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกมากมาย
.
ดาวเทียมดวงหลัก THEOS-2 จัดว่าอยู่ในกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกที่ถ่ายภาพแบบรายละเอียดสูง โดยสามารถถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50x50 เซนติเมตรบนพื้นโลกได้ ปัจจุบันการประกอบและทดสอบดาวเทียม รวมไปถึงระบบภาคพื้นที่เกี่ยวข้องกับ THEOS-2 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้ดาวเทียม THEOS-2 ถูกเก็บรักษาไว้ที่โรงงานผลิตดาวเทียม ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรอส่งไปยังสถานีปล่อยดาวเทียมต่อไป ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะช่วยเปิดโอกาสการพัฒนาระบบผลิตภาพถ่ายและบริการภูมิสารสนเทศ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในประเทศ และเป็นการสานต่อภารกิจดาวเทียมไทยโชตที่ใกล้จะหมดวาระการใช้งานเร็วๆนี้
.
สำหรับ ดาวเทียม THEOS-2A เป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงที่ 2 ภายใต้โครงการ THEOS-2 และเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยที่มีมาตรฐานในระดับ industrial grade ที่ร่วมสร้างโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 22 คน ตั้งแต่วิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนา รวมถึงทดสอบร่วมกับทางบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd สหราชอาณาจักร อีกทั้งยังเป็นการสร้างตัวดาวเทียมโดยมีบริษัทเอกชนในไทยที่มีศักยภาพด้านการผลิตอุปกรณ์การบิน เข้ามามีบทบาทการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้วย
.
ดาวเทียม THEOS-2A เป็นดาวเทียมที่สามารถถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป และจะทำหน้าที่เสริมการบันทึกภาพบนพื้นผิวโลกให้กับดาวเทียมดวงต่างๆ ที่ GISTDA ให้บริการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์การใช้งานด้านต่างๆ ปัจจุบัน ดาวเทียม THEOS-2A ผ่านการทดสอบคุณสมบัติด้านต่างๆ ให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม หรือ AIT ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ Space Krenovation Park (SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
.
นอกจากนั้นองค์ความรู้ด้านการร่วมพัฒนาดาวเทียมที่ทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยได้รับจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอวกาศจากต่างประเทศยังได้นำมาถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจในประเทศ จึงเกิดเป็นการฝึกอบรม training for the trainer “ถ่ายทอดองค์ความรู้การปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียม รุ่นที่ 1” เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2565 โดยมีบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับงานทางด้านเทคโนโลยีดาวเทียมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า Know-How Transfer and Training (KHTT) ตลอดการฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรฯ ที่ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนมาอย่างเข้มข้นในการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2A โดยองค์ความรู้ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯได้รับการถ่ายทอดนั้น จะช่วยสนับสนุนในการต่อยอดกับงานด้านเทคโนโลยีดาวเทียมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การสร้าง และการทดสอบระบบดาวเทียม รวมถึงการประยุกต์ใช้กับงานเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างและพัฒนาบุคลากรไทยให้มีคุณภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไว้รองรับการพัฒนาด้านอวกาศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทำให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านอวกาศได้เอง โดยใช้บุคลากรไทยและองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นเองโดยคนไทย
.
โครงการ THEOS-2 ยังได้ส่งเสริมบริษัทเอกชนในประเทศเกี่ยวกับบทบาทการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศในประเทศไทยและความร่วมมือการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในอนาคต โดย GISTDA ได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ In-country Manufacturing Program เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านมาตรฐานและเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม และเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม Aerospace อย่างเต็มตัว
.
การดำเนินโครงการ THEOS-2 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะได้ผลผลิตเป็นดาวเทียมเพื่อการสำรวจ แต่โครงการ THEOS-2 ยังได้สร้างบุคลากรที่มีศักยภาพด้านดาวเทียมที่สูงขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานอวกาศอื่นๆ ในระบบภาคพื้นดินที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #theos2 #ระบบช่วยตัดสินใจ #ภูมิสารสนเทศ #เชิงพื้นที่ #ดาวเทียม #ระบบวิเคราะห์เชิงพื้นที่ #วิศวะกรดาวเทียมไทย #นวัตกรรมอวกาศ #สร้างแรงบันดาลใจ

phakpoom.lao 30/1/2566 0
Share :