Head GISDTDA

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565 (4) บทบาทด้านเทคโนโลยีอวกาศไทยบนเวทีนานาชาติ

การทำงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และข้อมูลจำนวนมหาศาล องค์กรด้านอวกาศของแต่ละประเทศ จึงต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรในระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อมวลมนุษยชาติให้มากที่สุด
.
การเข้าร่วมเวทีความร่วมมือในระดับนานาชาติ จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งถือเป็น หนึ่งในภารกิจของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 20 ปี GISTDA ได้เข้าไปมีบทบาทในรูปแบบต่างๆ เช่นเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงานในการประชุม โดยได้นำเสนอผลงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อให้นานาประเทศได้รับรู้ถึงศักยภาพของ GISTDA และเป็นคณะกรรมการในเวทีระดับนานาชาติ
.
ปัจจุบัน GISTDA มีความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรหลายประเทศทั่วโลกที่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทย โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ความร่วมมือแบบพหุภาคี และความร่วมมือแบบทวิภาคี
.
ในความร่วมมือแบบพหุภาคี GISTDA ได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ เช่น Space Application Session, IDD of UNESCAP, United Nations Satellite Centre (UNOSAT), The United Nations Committee on the Peaceful Uses of Outer Space (UNCOPUOS) และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ประเทศไทย โดย GISTDA ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (Committee on Earth Observation Satellite หรือ CEOS) โดยมีระยะเวลา 1 ปี
.
ประเทศไทย โดย GISTDA เป็นหนึ่งในสมาชิก CEOS ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานระดับชาติที่มีภารกิจเกี่ยวกับดาวเทียมสำรวจโลกจากนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ โดย GISTDA ได้เข้าร่วมใน CEOS ตั้งแต่ปี 2001
.
CEOS จะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล การร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดรูปแบบการบริการ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ข้อมูลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาได้ร่วมกันทั่วโลกอย่างยั่งยืน
.
ในวาระที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานฯ จะเป็นโอกาสสร้างการรับรู้และตระหนักถึงศักยภาพด้านการสำรวจโลกของประเทศไทยในเวทีระดับโลก และผลักดันประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการใช้เทคโนโลยีการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมในการติดตามการปลดปล่อยและเก็บกักคาร์บอนในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก และการพัฒนาแนวทางการส่งเสริม New Space Economy ร่วมกับองค์กรอวกาศจากภูมิภาคต่างๆ อาทิ ESA, NASA, USGS, JAXA, CNES และ CSA
.
นอกจากนี้ GISTDA ยังได้สร้างความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคีกับองค์กรด้านอวกาศของหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยี การวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น เรื่อง Climate change, New space economy, Space situation awareness, Space traffic management ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
.
จากโอกาสในเวทีระดับโลกที่ประเทศไทยโดย GISTDA ได้เข้าร่วมและได้พยายามนำองค์ความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านอวกาศมาใช้พัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานภายในประเทศ ส่งผลให้ GISTDA เป็นหน่วยงานด้านอวกาศของไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในเวทีระดับโลก นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สามารถพัฒนางานด้านเทคโนโลยีอวกาศได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการพัฒนาและยกระดับบุคลากรภายในประเทศให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมนานาประเทศอีกด้วย
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #บทบาทประเทศไทย #นานาชาติ #การพัฒนา #พันธมิตรในระดับนานาชาติ #แลกเปลี่ยนเรียนรู้ #CEOS # NewSpaceEconomy #การปลดปล่อยและเก็บกักคาร์บอน 

phakpoom.lao 2/2/2566 0
Share :