Head GISDTDA

ภาพเดียวกัน

“ชายสองคนกำลังนั่งมองแก้วกาแฟที่มีหูจับข้างเดียว คนแรกเห็นหูแก้วกาแฟเพราะอยู่ด้านเดียวกับหูจับ ส่วนคนที่สองไม่เห็นหูจับเพราะมองจากฝั่งตรงกันข้าม จึงคิดไปว่าแก้วนี้ไม่มีหูจับ” เชื่อหรือไม่ว่าสถานะการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นบ่อยคร้ังในสังคมเรา หากแต่ไม่ใช่การมานั่งมองแก้วกาแฟแต่เป็นมุมมองของการรับรู้ปัญหาสังคมที่แต่ละคนต่างก็มีภาพของความเข้าใจที่ไม่เหมือนกันตามพื้นฐานของที่แตกต่างกัน เป็นสาเหตุให้แนวทางการพัฒนาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นการทำให้สังคมเราได้รับการเยียวยาไปในทิศทางที่ถูกที่ควร จึงจำเป็นต้องทำให้ภาพเหล่านั้นชัดเจนและเห็นเป็นภาพเดียวกันเสียก่อน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในสังคมไทยมีปัญหามากมายที่ได้รับการเยียวยาอย่างไม่ถูกวิธีหรือแก้แล้วแก้อีกก็ยังไม่ดีขึ้น เมื่อถึงคราต้องเปลี่ยนยุคสมัย วิธีรับมือกับปัญหานั้นๆก็เปลี่ยนตามไปด้วย แต่ทว่าหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับคือการสร้างความมั่นคงและแข็งแรงให้กับหน่วยเล็กที่สุดในสังคม นั้นก็คือ “ครอบครัวหรือชุมชน” เพราะเมื่อชุมชนแข็งแรง พึ่งพาตัวเองได้ ก็จะดึงคนออกจากสังคมเมือง ลดปัญหาการว่างงานและอื่นๆที่ตามมา แต่คำถามสำคัญก็ยังคงอยู่ที่ว่าจะใช้กระบวนการและเครื่องมือพัฒนาใดที่จะทำให้ชุมชนแข็งแรงและยั่งยืนได้จริง

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย  เป็นโครงการที่ช่วยชาวบ้านในเรื่องของการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและยังรวมถึงการออกแบบพื้นที่เกษตรกรรมผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านและสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นบริเวณนั้น

แนวความคิดดังกล่าวทางสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10

30% สำหรับแหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่ 30% สำหรับทำนา ปลูกข้าว 30% สำหรับทำโคกหรือป่า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก็คือปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจเพื่อให้ได้ประโยชน์ คือ มีกิน มีอยู่ มีใช้ มีความสมบูรณ์และความร่มเย็น และอีก 10% สำหรับที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ปลา วัว และควาย เป็นต้น

แน่นอนว่าในทางปฎิบัติจริงนั้น การจัดสรรบันส่วนพื้นที่ตามที่กล่าวไม่ใช่แค่เพียงการนำแปลงที่ดินที่ร่วมโครงการมาขีดเส้นแบ่งตามสัดส่วนเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่นักพัฒนาต้องคำนึงถึง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความเข้าใจความสูงต่ำของพื้นที่เพื่อนำไปสู่การออกแบบการไหลหมุนเวียนของระบบน้ำให้สัมพันธ์กับธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกแปลงเกษตรดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันข้อมูลสภาพพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ”

ภูมิสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น แผนที่ เครื่องมือสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเลือกใช้เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมสภาพภูมิประเทศ เชื่อมโยงกับปัญหาในแต่ละท้องถิ่น สู่มาตราการแก้ไขและพัฒนาที่ปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ จนเป็นภาพแห่งความสำเร็จที่เห็นเป็นประจักษ์ดังเช่นทุกวันนี้

GISTDA ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล”  โดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาปรับใช้เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนทั้งคณะนักพัฒนาและกลุ่มชาวบ้านให้มองเห็นและเข้าใจภาพรวมของสภาพพื้นที่ และใช้เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในอนาคตที่สามารถย้อนมาดูกิจกรรมต่างๆที่ได้ดำเนินการมาแล้วในพื้นที่บนแผนที่ เพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว 

ระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศหรือระบบแผนที่ประกอบการพัฒนาภายใต้โครงการฯ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ปรากฏบนภาพถ่ายจากดาวเทียม เมื่อประกอบเข้ากับข้อมูลอัพเดทจากพื้นที่โดยพี่น้องเกษตกรที่สามารถปรับปรุงฐานข้อมูลนี้ได้เองหลังจากที่ได้รับการอบรมกับทาง GISTDA แล้ว จะทำให้ชุมชนเข้าใจศักยภาพของพื้นที่ของตนเองมากขึ้นผ่านแผนที่ และนำความเข้าใจไปออกแบบการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เนื่องจากภูมิสารสนเทศสามารถชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของสิ่งต่างๆที่อยู่ในชุมชน อาทิ ที่ตั้งอ่างเก็บน้ำ เส้นทางคลองไส้ไก่ควรสัมพันธ์กับแปลงเกษตร ที่ตั้งกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยควรอยู่บนที่ดอนหรือบนเนินและไกลจากทางน้ำไหลในหน้าน้ำหลากเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เป็นระบบที่ทำให้ทั้งนักพัฒนา ชาวบ้าน คนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่ มีภาพแห่งความเข้าใจศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ เป็นภาพเดียวกัน

เมื่อทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกันย่อมทำให้การสื่อสารระหว่างกันนั้นง่ายขึ้น เกิดมาตราการแก้ไขและพัฒนาได้ตรงจุด เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับการดำเนินโครงการอย่างมีธรรมาภิบาลด้วยหัวใจของนักพัฒนาตามศาสตร์พระราชาแล้ว จะก่อให้เกิดผลลัพท์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองจากความอุดมสมบูรณ์ในท้องที่ เกิดการแลกเปลี่ยนผลผลิตสร้างเศรษฐกิจในชุมชน อีกทั้งสภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์ สุดท้ายก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น เกิดความยั่งยืนในครอบครับและชุมชน สิ่งเหล่านี้ก็จะไปสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆของประเทศต่อไป

 

#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #ปัญหาสังคม #แก้ปัญหาสังคม #เยียวยา #พัฒนายั่งยืน #ชุมชน #สังคม #แข็งแรง #การจัดการฐานข้อมูล #พัฒนาสังคม #พัฒนาเศรษฐกิจ #พัฒนาประเทศ #พัฒนาสิ่งแวดล้อม #โคกหนองนาโมเดล

Admin 5/1/2021 919 0
Share :