Head GISDTDA

กำจัด ”ผักตบชวา” รับมือน้ำหลาก ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

     หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาระดับชาติที่เกิดขึ้นทุกปี และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน น้ำแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้างสลับกันไป การแก้ไขปัญหาอาจจะไม่ตรงจุดเท่าที่ควร หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละปีก็มีความแตกต่างกันออกไป กระบวนการจัดสรรทรัพยากรน้ำจึงเกิดขึ้น ทั้งจากรัฐบาลเอง หน่วยงานต่างๆตลอดจนภาคประชาชน เพื่อช่วยกันรับมือกับปัญหาเรื่องน้ำที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนในปีนี้รัฐบาลได้เล็งเห็นว่าประเด็นการป้องกันน้ำหลากเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนคือปัญหา “ผักตบชวา”
เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จัดเป็น 1 ในเครื่องมือที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพที่จะทำให้เราสามารถติดตามปริมาณผักตบชวาจำนวนมหาศาลได้ พร้อมส่งต่อข้อมูลสำคัญให้กับหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อนำไปบริหารจัดการเชิงพื้นที่ต่อไป
     ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายจากเทคโนโลยีจากดาวเทียม จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และบริหารจัดการผักตบชวาได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียมหลากหลายดวง เช่น ดาวเทียวไทยโชต , ดาวเทียม Sentinel-2 , ดาวเทียม Landsat-8 เป็นต้น ดาวเทียมเหล่านี้สามารถใช้ทดแทนหรือเสริม ในช่วงเวลาที่ต้องการจะทราบลักษณะการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากดาวเทียมแต่ละดวง มีรอบระยะเวลาการถ่ายภาพซ้ำที่เดิม และรายละเอียดภาพที่แตกต่างกัน สามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมและกว้าง ติดตามสถานการณ์ได้หลายช่วงเวลา และข้อมูลของดาวเทียมที่ใช้จะต้องมีคุณสมบัติในการให้ค่าสะท้อนของพืชพรรณ(ผักตบชวา) ได้ดี ทั้ง Near Infrared และ Shortwave Infrared ซึ่งจะเหมาะสำหรับใช้ในการสำรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่มีการเคลื่อนที่ กองสะสมตามลำน้ำ หรือที่มีการกำจัดไปแล้วโดยในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายทั้งในด้าน ป่าไม้ เกษตร ทะเลและชายฝั่ง
    ดาวเทียมทั้ง 3 ดวง จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดยดาวเทียม Sentinel-2 จะสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมมากที่สุดอยู่ที่ความกว้าง 290 กิโลเมตร ความละเอียดเชิงพื้นที่ 10 เมตร ดาวเทียม Landsat-8 กว้าง 185 กิโลเมตร ความละเอียดเชิงพื้นที่ 15 เมตร และดาวเทียวไทยโชต กว้าง 90 กิโลเมตร ความละเอียดเชิงพื้นที่ 2 เมตร ในด้านการใช้งานสามารถเลือกใช้ได้ตามพื้นที่ที่สนใจในพื้นที่ขนาดเล็ก-ใหญ่ได้ตามความเหมาะสมเนื่องจากดาวเทียมแต่ละดวงมีพื้นที่ในการถ่ายภาพที่แคบ กว้าง และให้รายละเอียดภาพที่แตกต่างกัน
เทคโนโลยีจากดาวเทียมและนวัตกรรมด้านภูมิสารสนเทศจะสามารถช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน และงบประมาณในการสำรวจหาพื้นที่ในเวลาเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี การบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนจะช่วยกันแก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วม น้ำแล้ง ได้เป็นอย่างดี การกำจัดผักตบชวา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะดำเนินการร่วมกับการบริหารจัดการน้ำด้านอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพน้ำตลอดจนอุปโภค บริโภคได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Admin 27/4/2020 1347 0
Share :