Head GISDTDA

GISTDA จับมือร่วม วช. และกรมโรงงานฯ ชูศักยภาพเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน และโรคอุบัติใหม่

GISTDA จับมือร่วม วช. และกรมโรงงานฯ
ชูศักยภาพเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน และโรคอุบัติใหม่

7 ธันวาคม 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการ การผลิต การลดผลกระทบด้านภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่างๆ และโรคอุบัติใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. และนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีและกล่าวร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมซิกม่า โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพมหานคร

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ที่ผ่านมา GISTDA ได้ร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและ วช. ในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นต้น โดยครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมถึงส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการพัฒนาต้นแบบการเฝ้าระวังและลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานจำนวนมาก โดยการพัฒนาต้นแบบดัวกล่าว จะสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้และมีความทันสมัยเป็นปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างทันท่วงที อีกทั้งยังใช้กำหนดมาตรการป้องกันการควบคุมสถานการณ์การแพร่กระจายและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ด้านนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรมโรงงานฯ ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการทำงานแบบบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม การอุตสาหกรรม สารเคมีและวัตถุอันตราย ความปลอดภัย การลดผลกระทบด้านภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่างๆทั้งโรคอุบัติใหม่ที่มีต่อโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ทันต่อเหตุการณ์สามารถวางแผน พัฒนา ติดตามและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมโรงงานฯ ที่ไว้วางไว้ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในทุกมิติอีกด้วย

สำหรับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันสร้างความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดย วช. จะส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงทรัพยากรที่มีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยในการกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการการลดผลกระทบทั้งด้านภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างทันสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา วช. ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงแก้ปัญหาเชิงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้เราจะระดมสรรพกำลังที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภารกิจบรรลุตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

Admin 7/12/2021 1090 0
Share :