Head GISDTDA

รู้จักกับระบบภาคพื้นดิน...

จากบทความที่แอดมินชวนคุยกันในตอนที่แล้ว “จากดาวเทียมอันไกลโพ้น..สู่ระบบสถานีภาคพื้นดินได้ย่างไร”

https://www.facebook.com/328782391264/posts/10158833069771265/ 

เรื่องของระบบภาคพื้นดินยังไม่หมด แอดมินเลยชวนคุยต่อเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบให้มากยิ่งขึ้น โดยบทความนี้จะเน้นอธิบายในส่วนของการวางแผนถ่ายภาพเป็นหลักนั่นเองครับ

 

ระบบภาคพื้นดินของดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth Observation Satellite Ground Segment ประกอบด้วยส่วนงานหลัก 3 ส่วน ได้แก่:

  • • การวางแผน-เตรียมคำสั่งในการถ่ายภาพ (Mission ground segment)
  • • ติดต่อกับดาวเทียมและบริหารจัดการดาวเทียม (Control ground segment)
  • • การรับสัญญาณและผลิตภาพถ่ายดาวเทียม (Image ground segment)


ทำไมต้องมีระบบวางแผนถ่ายภาพ

เนื่องจากพื้นที่ครอบคลุมในการถ่ายภาพของดาวเทียมในแต่ละช่วงเวลามีจำกัด เพื่อให้ดาวเทียมสามารถถ่ายภาพได้มากที่สุดในกรอบเวลาที่กำหนด จึงต้องวางแผนการใช้งานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการถ่ายภาพให้ดีขึ้น ยิ่งในอนาคต GISTDA จะมีดาวเทียมมาเพิ่ม2 ดวงได้แก่ THEOS-2 MainSAT และ SmallSAT ทำให้การวางแผนถ่ายภาพอย่างมีประสิทธิภาพเป็นระบบที่สำคัญและขาดไม่ได้นั่นเองครับ

ระบบวางแผนถ่ายภาพใช้งานตอนไหนบ้าง

ใช้ในช่วงเวลาที่มีคนส่งคำขอถ่ายภาพพื้นที่ เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติหรือเพื่อวิเคราะห์พืชผลเกษตร เนื่องจากดาวเทียมสำรวจโลกของไทยมีวงโคจรที่เป็นลักษณะสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit) ทำให้มีช่วงที่โคจรผ่านสถานีภาคพื้นดินที่อำเภอศรีราชาประมาณ 4 ครั้ง/วัน คือช่วงเช้าโคจรผ่าน 2 ครั้งและช่วงเย็น 2 ครั้ง ซึ่งก่อนที่ดาวเทียมจะเข้าวงรับสัญญาณ ระบบวางแผนจะต้องคำนวณแผนการถ่ายภาพให้เสร็จเรียบร้อยจึงค่อยส่งแผนให้ฝ่ายควบคุมเพื่อส่งคำสั่งต่อให้ดาวเทียมปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้วางแผนไว้

 

ระบบวางแผนถ่ายภาพทำงานยังไง

เป็นการจัดลำดับว่าคำขอไหนมีคะแนนมากสุดโดยวัดจาก
1. ลำดับความสำคัญ – คำขอประเภทภัยพิบัติจะได้คะแนนในข้อนี้มากเนื่องจากเวลาจำกัด และมีความจำเป็นเร่งด่วน
2. มุมที่หันมาถ่าย – มุมยิ่งเยอะภาพที่ถ่ายออกมาจะยิ่งเบี้ยว หรือไม่ได้มุมภาพตามที่ต้องการ
3. ปริมาณเมฆ – ถ้าเมฆเยอะถ่ายไปก็เห็นแต่เมฆ
4. วันหมดอายุ – ทุกคำขอมีช่วงเวลา เช่น คำขอภาพถ่ายพื้นที่เกษตรตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาไปจนกระทั่งออกพรรษา หากคำขอไหนไม่รีบก็ยังไม่ต้องถ่าย
ในการคำนวณแน่นอนว่าต้องคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆของอุปกรณ์บนดาวเทียม เช่น เรื่องความจุหน่วยความจำ, ความร้อน, พลังงาน, และระยะเวลาในการหมุนตัวของดาวเทียม โดยปกติแล้วระบบจะทำการคำนวณแผนไว้ในระยะยาว แต่เนื่องจากมีเรื่องความแม่นยำของวงโคจรที่ต้องอัพเดตทุกวันและคำขอใหม่ที่มีความสำคัญมากมาแทรก จึงทำให้ต้องคำนวณแผนใหม่ในทุกๆวันอีกด้วย


แล้วระบบนี้ให้ใครใช้ได้บ้าง?

ณ ตอนนี้ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งคำขอถ่ายภาพพื้นที่ที่ต้องการ หรือเลือกภาพถ่ายดาวเทียมในคลังข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเพื่อนๆยังนึกไม่ออกแอดมินจะบอกว่าอารมณ์เหมือนกับการเข้าไปเลือกซื้อของในแพลตฟอร์มสะดวกซื้อออนไลน์นั่นเองครับ ที่ทั้งง่ายและสะดวก ทั้งนี้หากใครส่งคำขอถ่ายภาพไม่เป็นก็สามารถติดต่อกับฝ่ายบริการลูกค้าของ GISTDA ได้ หรือสอบถามข้อมูลได้โดยตรงผ่านช่องทางอีเมล์ info@gistda.or.th   เบอร์โทรศัพท์ 02-141-4466 ได้เลยครับ “เรื่องราวจากอวกาศ จะไม่เป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคุณอีกต่อไป” 

 

Image: Airbus

เรียบเรียงโดย
นนท์ มีบุญ
Mission Planning Engineer

 

Admin 1/4/2564 968 0
Share :