Head GISDTDA

G-MOS ระบบข้อมูลเพื่อความเข้าใจ

G-MOS ระบบข้อมูลเพื่อความเข้าใจ

เป็นไปตามคาดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลานีญาที่กำลังส่งผลกับประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติแต่ฝนตกแบบกระจุกไม่กระจายตัว ส่งสัญญาณแนวโน้มเกิดปรากฏการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เดิมและเกิดน้ำท่วมกระจายหลายพื้นที่เดิมๆ เช่นกัน

แม้ว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ แต่สองปีที่ผ่านมา คือ พ.ศ. 2562 – 2563 เราต้องเผชิญกับภาวะปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ทำให้ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนยังคงมีน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำจริง โดยเฉพาะเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุนี้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำ ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตร เกิดภาวะภัยแล้งตามมา

จะเห็นได้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมีความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์และปัญหาต่างๆมากมาย พื้นที่หนึ่งขาดน้ำแต่อีกพื้นที่หนึ่งน้ำจะท่วม ในขณะที่อีกพื้นที่ฝนตกลงมาไม่นานแต่ตามด้วยลมแรง สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างหนักหน่วง ทางออกก็คือเราต้องเข้าใจสถานการณ์ให้ครบทุกมิติด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ครบถ้วน และทันสมัย โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายหรือให้การช่วยเหลือ

ระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม หรือ จีมอส (G-MOS หรือ GISTDA MAP ONLINE SERVICE) พัฒนาโดย GISTDA เป็นระบบข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจ รวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ของประเทศไทยที่วิเคราะห์มาจากข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอื่นๆทั่วประเทศ โดยสามารถเข้าถึงได้ทาง gmos.gistda.or.th

ข้อมูลใน G-MOS ครอบคลุมทั้งทางด้านภัยพิบัติ ด้านป่าไม้ ด้านเกษตร ด้านทะเลและชายฝั่ง ยังรวมถึงด้านสังคมวัฒนธรรม แสดงข้อมูลในรูปแบบแผนที่ซึ่งสามารถนำข้อมูลแต่ละด้านมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ เพื่อมุมมองต่อความเข้าใจปัญหาที่ครบทุกด้านทุกมิติ ทันต่อเหตุการณ์ และนำไปสู่การตัดสินใจกำหนดวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ในด้านภัยพิบัติประกอบไปด้วยระบบติดตามภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า และ PM 2.5 ให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันที่วิเคราะห์จากเซนเซอร์ทั้งจากภาคพื้นดินและดาวเทียม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและพื้นที่ที่กำลังประสบภัย เช่น ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมปัจจุบัน ข้อมูลพื้นน้ำท่วมซ้ำซากตั้งแต่ พ.ศ.2547-2561 ข้อมูลจุดความร้อน ความหนาแน่ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นต้น

ด้านป่าไม้เป็นระบบติดตามพื้นที่ป่าด้วยข้อมูลจากดาวเทียม (GFMS) ประกอบด้วยข้อมูลภูมิสารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อภาพรวมการบริหารจัดการพื้นที่ป่า อาทิ ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้รายปี ข้อมูลพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้ ข้อมูลที่ดินของรัฐ แสดงในรูปแบบแผนที่ ด้วยมุมมองเชิงพื้นที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น

ด้านเกษตร (GISAGRO) ประกอบด้วยข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามสถานการณ์พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังต่อการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช และแผนที่เขตความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด

ด้านทะเลและชายฝั่ง ให้บริการข้อมูลจากสถานีตรวจวัดด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงหรือระบบเรดาร์ชายฝั่ง เพื่อการอัพเดทสถานภาพทางทะเล การติดตามสถานการณ์พายุ คลื่นซัดฝั่ง สถานการณ์มลพิษ ความปลอดภัยทางทะเล รวมถึงข้อมูลคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เรียกได้ว่าครบทุกมิติที่เกี่ยวกับทะเล

ด้านสังคมและวัฒนธรรมนับว่าเป็นอีกหนึ่งคุณค่าที่สำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อสะท้อนเรื่องราวในอดีตผ่านแผนที่ ภายใต้โครงการอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เป็นการร้อยเรียงข้อมูลเกี่ยวกับร่องรอยและความรุ่งเรืองในอดีตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันของดินแดนสุวรรณภูมิ โดยใช้หลักฐานทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นำเสนอในรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านแผนที่ จากจุดต่อจุดเชื่อมโยงจนกลายเป็นเรื่องราวและเส้นทางการเดินทางสู่ความรุ่งเรืองในอดีต เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการพัฒนาสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม

หัวใจสำคัญของ G-MOS คือนอกจากจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศที่สำคัญใน GISTDA เพื่ออำนวยความสะดวกการเข้าถึงข้อมูลให้กับผู้ใช้แล้ว ยังสามารถนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน ทำการวิเคราะห์เชิงลึก ส่งออกเป็นรายงานข้อมูลสถิติได้ทันที เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับการจัดการปัญหาที่ผู้ใช้สนใจ
เช่น การประเมินมูลค่าความเสียหายและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตำแหน่งจุดความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง 23 จังหวัด วิเคราะห์หาพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จำนวนประชากรและหมู่บ้านที่ได้รบผลกระทบจากน้ำท่วม แปลงเกษตรหรือสวนผลไม้ที่กำลังถูกน้ำท่วม เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้บางส่วนก็ได้นำเสนอผ่านหน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจของ GISTDA อยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกจำนวนมากที่อยู่ในแต่ละระบบย่อยของ G-MOS นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่ต่อยอดจากคุณค่าของเทคโนโลยีอวกาศ และสามารถบอกเล่าเรื่องราว ไว้รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยมุมมองเชิงพื้นที่หรือแสดงในรูปแบบแผนที่ เพราะทุกการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มจากความเข้าใจ

TAG: gmos
Admin 6/4/2564 963 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง