Head GISDTDA

ฝุ่น PM กับปัญหานี้ที่รอคอย

   ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตั้งแต่ในเมืองใหญ่ ไปจนถึงพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายแดน PM2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์อย่างรุนแรงในระยะยาว รวมถึงผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนผ่านการเข้าถึงฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ต่อเนื่อง ทันสมัย และเชื่อถือได้ เพื่อที่แต่ละภาคส่วนสามารถมองเห็นและเข้าใจสภาวการณ์และสถานการณ์ที่เป็นจริง และนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินแผนงาน/กิจกรรม/โครงการ/มาตรการต่างๆ หรือแม้กระทั่งการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝุ่นละอองโดยเฉพาะ PM2.5 เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นอกจากการใช้สถานีภาคพื้นดินในการตรวจวัดฝุ่นละอองแล้ว ดาวเทียมสำรวจโลกที่ติดตั้งเซนเชอร์ตรวจวัดจากระยะไกล ก็สามารถให้ข้อมูลปริมาณฝุ่นละออง ทั้งที่เป็น PM10 และ PM2.5 ได้ ข้อได้เปรียบของการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมคือสามารถวัดและรายงานปริมาณฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศได้ทุกที่ทั้งในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งได้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และประมวลผล

   GISTDA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการใช้ประโยชน์ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลจากดาวเทียม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรับมือกับมลภาวะทางอากาศและข้อจำกัดของการใช้เครื่องมือตรวจวัดและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้ในการสกัดข้อมูลมลภาวะทางอากาศและตัวแปรทางกายภาพที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องจากข้อมูลดาวเทียม ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดของการใช้เครื่องมือตรวจวัดภาคพื้นดินได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ การนำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีการตรวจวัดอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องเช่นข้อมูลดาวเทียมจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยให้เข้าใจและเห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นในการวางแผนแก้ไขปัญหา PM2.5 ในระดับยุทธศาสตร์ การวางแผนสั่งการและติดตามประเมินผลในระดับนโยบาย รวมถึงการวิเคราะห์ติดตามมลพิษข้ามพรมแดน เป็นต้น
ปัญหาฝุ่น PM ถือเป็นวาระแห่งชาติที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้คลี่คลาย จริงอยู่ว่าการแก้ไขอาจต้องใช้เวลา แต่เราในฐานะพลเมืองควรร่วมมือกันในการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น และร่วมติดตามคุณภาพอากาศอย่างเสมอเพื่อประเมินความเสี่ยง และควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารเมื่อคุณภาพอากาศไม่ดี หากจำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกบ้านก็ควรสวมหน้ากากป้องกัน และส่งเสริมให้ลดการใช้รถส่วนบุคคล โดยการยกระดับขนส่งมวลชน มีการส่งเสริมปรับปรุงการให้บริการให้สะดวก สะอาด ปลอดภัยต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการลดลมพิษในท้องถนน
ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจผลกระทบต่อร่างกาย มีตั้งแต่ระยะสั้นคือก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ ไปจนถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง การป้องกันผลกระทบจากฝุ่นจึงมีความสำคัญการแก้ไขที่ต้นเหตุคือการลดฝุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ที่อาจจะมาจากการเผาไหม้ ควันรถท่อไอเสีย โรงงานอุตสาหกรรม จะต้องเร่งดำเนินการในระดับนโยบายในการควบคุม ติดตาม และปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศสะอาดปราศจากมลพิษ

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
• ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจาก GISTDA
• ข้อมูลบางส่วนจากเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 22 เรื่อง “ฝุ่น PM 2.5 แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน”

#GISTDA #จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #จิสด้า #mhesi #อว #คุณค่าจากดาวเทียม #เทคโนโลยีอวกาศ #ฝุ่น #ฝุ่นละออง #pm2.5 #pm10 #ค่าpm #หมอกหรือควัน #มลภาวะเป็นพิษ #คุณภาพอากาศ #มลพิษทางอากาศ #spaceandgitechnology

Admin 5/11/2563 848 0
Share :