Head GISDTDA

อนาคตอวกาศไทย กับ พรบ.กิจการอวกาศ

อนาคตอวกาศไทย กับพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ และมอบหมายให้ GISTDA จัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ และให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ของกิจการอวกาศ ได้อย่างยั่งยืน ทว่าปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายภายในประเทศ ที่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศ เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณารายละเอียด ด้านข้อกฏหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามลำดับ

สิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจจากกิจการอวกาศ หรือ New Space Economy นั่นก็คือ “พ.ร.บ. กิจการอวกาศฯ” ที่ให้การดูแลกิจกรรม กิจการนิติบุคคลของไทย ส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศประเทศไทย ตลอดจนดูแลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ สร้างความร่วมมือ เพื่อเกิดการพัฒนาในทุกมิติ ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอวกาศภายในและต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการรองรับอัตราการเติบโตและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศ ตลอดจนดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เทคโนโลยีอวกาศจึงได้เข้ามามีบทบาทและส่วนสำคัญกับชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง GNSS ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดทำให้ช่วงเวลานี้ในห้วงอวกาศมี การใช้งานดาวเทียม หรือสถานีอวกาศมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมแล้วมากกว่า 3,000 ดวง และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆปี โดยคาดการณ์ว่าในระยะ 10 ปี นี้ จะมีดาวเทียมเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 17,000 ดวง

ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการมี พ.ร.บ. กิจการอวกาศฯ ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ 1.ประเทศไทยจะเกิดการลงทุนด้านกิจการอวกาศจะก่อให้เกิดธุรกิจ อุตสาหกรรมและ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการดำเนินกิจการในด้านอวกาศที่จะต่อยอดสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้นในที่สุด รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง  2.มีหน่วยงานและกลไกเพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริม สร้างความเชื่อมั่นในการดึงต่างชาติให้มาลงทุนพัฒนากิจการอวกาศในประเทศไทย 3.มีกลไกพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศในประเทศ เพื่อให้มีขีดความสามารถทัดเทียมกับต่างชาติในอนาคต 4.การดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศทั้งภาคเอกชน และภาครัฐจะเป็นไปด้วยมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ทั้งนี้ สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านอวกาศของสหประชาชาติที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่ มี 5 ฉบับด้วยกัน โดยมีสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) เป็นผู้ดูแลการดำเนินกิจการอวกาศของประชาคมโลก  ซึ่งประกอบด้วย 1) สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967  2) ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศ และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968  3) อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972  4) อนุสัญญาว่าด้วย การจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ค.ศ.1975 และ 5) ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ค.ศ. 1979  โดยในปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีใน 2 ฉบับเท่านั้น คือ สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 และความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศ และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968

ดังนั้น กฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ การดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับกฎกติกา บูรณาการนโยบายและแผนกิจการอวกาศของประเทศในภาพรวม อีกทั้งมีกลไกในการดำเนินกิจการอวกาศที่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นภาคีแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นภาคี รวมถึงมีกลไกพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศในประเทศ เพื่อให้มีขีดความสามารถทัดเทียมกับต่างชาติในอนาคต สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากล

ทั้งนี้ร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่​วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ มีภารกิจหลักๆ คือ

  1. จัดทำร่างนโยบายและแผนกิจการอวกาศเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ ติดตาม และรวบรวมการดำเนินงานตามนโยบายและแผนกิจการอวกาศของหน่วยงานของรัฐ และรายงานต่อคณะกรรมการ อีกทั้งส่งเสริม สนับสนุน กำกับและพัฒนากิจการอวกาศ ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายและแผนกิจการอวกาศ อาทิ ระบบทะเบียนวัตถุอวกาศของประเทศ ,จดทะเบียนวัตถุอวกาศ
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนการค้นคว้า วิจัยวิทยาการอวกาศ การสำรวจอวกาศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอวกาศ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนากิจการอวกาศ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาการอวกาศ
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอวกาศ
  4. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศให้เป็นไปตามนโยบายและแผนกิจการอวกาศ
  5. ประสานการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ

กฎหมายดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy เป็นกฎหมายที่ให้การดูแลกิจการนิติบุคคลของไทย ส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศประเทศไทย ตลอดจนดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนานาชาติ เมื่อมีการทำธุรกิจกิจการใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศ รัฐจึงต้องดูแลและทำตามแนวทางของกิจการสากล จะทำให้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ

 

Admin 3/8/2564 4243 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง