Head GISDTDA

ภูมิอากาศ VS โควิด-19

ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าหลายคนต่างคาดหวังไว้ว่า อากาศร้อนในเดือนเมษายนที่กำลังจะมาถึงนี้จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยบรรเทาสถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส หรือ โควิด-19 แต่กลับต้องมาอกหักเมื่อองค์การอนามัยโลกออกมาประกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า “ไม่พบหลักฐานว่าอากาศร้อนจะสามารถยับยั้งไวรัสได้”

เพียงหลังจากนั้นไม่นาน มีนักวิจัยจำนวนหนึ่งศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงอยู่ของไวรัสและลักษณะสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ มาดูกันว่าผลการศึกษาจะทำให้เราเข้าใจโควิด-19 มากขึ้นเพียงใด

จากการศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากอเมริกาและอิหร่าน โดยใช้ข้อมูลภูมิอากาศของกลุ่มเมืองที่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่าอย่างหนัก เปรียบเทียบกับกลุ่มเมืองที่ไม่เกิดการระบาด และหาความสัมพันธ์ของอุณหภูมิและความชื้นที่มีผลต่อการอยู่รอดและการแพร่กระจายของโคโรน่าไวรัส บนสมมุติฐานที่ว่า “สภาพภูมิอากาศอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่กระระบาดของ COVID-19”

ผลการศึกษาได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อพิจารณารูปแบบระบาดของไวรัสโคโรน่าในเชิงพื้นที่หรือบนแผนที่ (ดูแผนที่ประกอบ >> http://bit.ly/2U1O9EI) จะเห็นว่ามีลักษณะการกระจายตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ไปตามเมืองที่ตั้งอยู่ประมาณช่วงละติจูดที่ 30 - 50 องศาเหนือ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน อิหร่าน อิตาลี(ตอนเหนือ) สเปน ฝรั่งเศส และ ทางตอนเหนือของอเมริกา

กลุ่มประเทศที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่คล้ายคลึงกัน ณ ช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงต้นปีอยู่ที่ประมาณ 5 - 11 องศาเซลเซียส (บริเวณแถบโทนสีเขียวบนแผนที่อุณหภูมิพื้นผิวโลก ช่วงเดือน พ.ย. 61 - มี.ค. 62 >> http://bit.ly/2IU94Dl) และมีความชื้นสัมบูรณ์อยู่ที่ 4-7 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งรูปแบบการกระจายตัวของพื้นที่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นตามเงื่อนไขของ ที่ตั้ง อุณหภูมิและความชื้นดังกล่าวข้างต้น นับได้ว่ามีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของเชื้อไวรัสตามฤดูกาลตัวอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ

นอกจากนั้นยังพบว่า ณ ช่วงเวลาเดียวกันในพื้นที่ทางตอนเหนือของกลุ่มประเทศที่กล่าวมาข้างต้น หรือในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 5 องศาถึงติดลบ อาทิ รัสเซียและมองโกเลีย เป็นต้น พบว่ามีการระบาดของเชื้อไวรัสน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในแถบอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 5-11องศา หรือแม้กระทั่งทางตอนใต้ลงมาในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 11 องศา หรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า จากข้อมูลการศึกษาดังกล่าวเมื่อมาประยุกต์ใช้กับแบบจำลองสภาพอากาศ จะทำให้ทราบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของ COVID-19 ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ ซึ่งก็ได้แก่กลุ่มประเทศดังต่อไปนี้ แถบแมนจูเรีย ประเทศจีน, แถบเอเชียกลาง, แถบยุโรปตะวันออก, ยุโรปกลาง, เกาะอังกฤษ, สหรัฐอเมริกาทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือและรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนนาดา (บริเวณแถบโทนสีเขียวขอบดำบนแผนที่อุณหภูมิพื้นผิวโลก ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 62 >> http://bit.ly/3a5Gye4 )

เนื่องจากช่วงนี้แถบประเทศซีกโลกเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิโดยทั่วไปในซีกโลกเหนือจะค่อยๆสูงขึ้น ส่งผลให้อากาศเย็นถอยขึ้นไปทางเหนือเป็นผลให้กลุ่มประเทศดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของนักวิจัยชาวโปรตุเกสที่ได้พัฒนาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศรายเดือนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของโคโรน่าไวรัส และพบค้นพบว่าคนที่อาศัยในเขตอากาศอบอุ่นถึงอากาศหนาวมีความเสี่ยงมากกว่าเขตแห้งแล้งและเขตอากาศร้อนชื้น

แบบจำลองดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งพัฒนาจากข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกและข้อมูลปริมาณน้ำฝนของแต่ละเดือนในรอบหนึ่งปี (ดูแบบจำลอง >> http://bit.ly/3d9ezMz ) พบว่าเขตที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าภายนอกร่างกายมนุษย์ คือบริเวณที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างเขตอากาศอบอุ่นและอากาศหนาว และปัจจุบันสภาพอากาศดังกล่าว มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ

จากผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่ามาตรการการกักตัวที่นำมาใช้ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในแถบภูมิภาคเขตแห้งแล้งจะได้ผลที่ดีกว่ากลุ่มประเทศในเขตอบอุ่นถึงเขตหนาว และแน่นอนว่าภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของไวรัสนอกร่างกายมนุษย์ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เราต้องระวังเพื่อควบคุมไวรัสให้ได้ เช่น ความหนาแน่นของประชากร การเชื่อมโยงและพฤติกรรมของมนุษย์

ส่วนเขตร้อนชื้นซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในเขตนี้ หากพิจารณาสภาพอากาศแบบกลางแจ้ง พบว่าเป็นสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยให้โคโรน่าไวรัสจะสามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่หากอยู่นอกร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้การแพร่ระบาดไม่รวดเร็วและรุนแรงเหมือนในเมืองในแถบซีกโลกเหนืออย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะสภาวะอากาศในอาคารหรือห้องปรับอากาศก็เป็นปัจจัยเสริมให้ไวรัสแพร่กระจายได้อยู่ดี
.
มาถึง ณ วันนี้ อาจจะยังเร็วไปหากเราจะบอกว่าแบบจำลองดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเพิ่งจะพัฒนาขึ้นมาได้ไม่นาน ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพิสูจน์ความถูกต้อง แต่นักวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการตอบสนองในยามวิกฤติต้องการความรวดเร็วเป็นสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ลดความเสี่ยง ลดสูญเสีย และลดตัวเลขผู้เสียชีวิต

หากแบบจำลองดังกล่าวเป็นจริง นับได้ว่าประเทศไทยเราก็โชคดีเพราะทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง คือไม่ตั้งอยู่ในโซนสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส แม้ว่าความร้อนที่แผดเผาในช่วงเมษาจะหยุดการระบาดไม่ได้แต่อย่างน้อยก็ช่วยชะลอความรุนแรงของสถานการณ์

แต่ทว่าข้อมูลเป็นเพียงส่วนสนับสนุน ที่ยังไม่พอจะสามารถหยุดยั้งการระบาดในครั้งนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ “การลงมือทำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือหยุดทุกพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างจริงจัง เป็นหนทางออกทางเดียวที่ถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือกันข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

อ้างอิง
- Matt Ho. (2020, March 13). Scientists found regions hit hard by coronavirus share similar climate. Retrieved March 16, 2020, from inkstonenews.com
- Sajadi, M.,Habibzadeh, P., Vintzileos, A., Shokouhi, S., Fernando, M., & Amoroso, A. (2020, March 9). Temperature and Latitude Analysis to Predict Potential Spread and Seasonality for COVID-19 Retrieved March 16, 2020, from papers.ssrn.com
- Areajo, M. & Naimi, B.. (2020, March 11). Spread of SARS-CoV-2 Coronavirus likely to be constrained by climate. Retrieved March 15, 2020, from medrxiv.org
- Berkeley L. & Noah H. (2020, March 6). It’s a ‘false hope’ coronavirus will disappear in the summer like the flu, WHO says. Retrieved March 15, 2020, from CNBC.com

 

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่20 #จิสด้า #GISTDA

Admin 19/3/2563 1
Share :