กสิกร…แข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม
(เครดิต: เพลงชีวิตกสิกร ของสุนทราภรณ์)
นับว่าสะท้อนภาพวิถีชีวิตบนรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมหลักของบ้านเราได้เป็นอย่างดี ที่ภาคการเกษตรของไทยนำมาซึ่งรายได้หลักของชาติ ทั้งที่บริโภคกันเองภายในประเทศและยอดการส่งออกของพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดในอันดับต้นๆ ของโลก ถ้านับว่าไทยเป็นมหาอำนาจทางภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของโลกก็คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินไปนัก
การที่ประเทศไทยจะเรืองอำนาจ…เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรมนั้น บทบาทของภาครัฐนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้พัฒนาการครบวงจรของระบบการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตภาคการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางปากท้องของพี่น้องเกษตรกรและคุณภาพผลผลิตที่ดีต่อผู้บริโภค ในภาวการณ์แข่งขันทางการเกษตรที่สูงขึ้นมากในปัจจุบันของประเทศที่เป็นแหล่งผลิตและประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรทั้งเพื่อการอุปโภคและบริโภค ทำให้เห็นว่าสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพี่น้องเกษตรกรคือการส่งเสริมความรู้ ข่าวสาร และการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม ตลอดจนการเชื่อมโยงกับช่วงเวลาและแหล่งตลาด อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่จะส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรและประเทศกลับมาเรืองอำนาจทางด้านเกษตรกรรมอีกครา
GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักภาครัฐของประเทศที่มีบทบาทและภารกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการประเทศโดยเฉพาะภาคการเกษตรได้พัฒนา “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเกษตรด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ GIS Agro” ตั้งแต่ปี 2555 โดยได้เริ่มต้นในพื้นที่ภาคเหนือรวม 16 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ด้านการเกษตรประมาณ 29 ล้านไร่จากพื้นที่ทั้งหมดของภูมิภาคกว่า 106 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งมีพืชหลักทางเศรษฐกิจสำคัญมากมายหลายชนิดเช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด ใบยาสูบ ถั่วเหลือง เป็นต้น ทำให้ภาคเหนือมีความเหมาะสมในการที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินงาน
ปัจจุบันนี้การดำเนินงานดังกล่าวได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยใช้หลักการในการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยและพัฒนาระบบประยุกต์เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรอย่างต่อเนื่อง โครงการดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ได้แก่
1. ระบบการตรวจสอบและติดตามดูแลรักษาพืชของเกษตรกร เพื่อการบริหารจัดการด้านอาหารของพืช การจัดการโรค การตกแต่งรูปทรงของพืช เป็นต้น
2. ระบบเฝ้าระวังการระบาดของโรคแมลง เพื่อการบริหารจัดการด้านโรคแมลงต่างๆ ที่จะรบกวนการเจริญเติบโตของพืช
3. ระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาพันธุ์พืช การพัฒนาที่ดิน รวมทั้งเทคนิคและวิธีการเพาะปลูก
4. ระบบคาดการณ์ด้านภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของประเทศ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง และลดปัญหาเกี่ยวกับกลไกการผลิต
5. ระบบการพยากรณ์ผลผลิตทางการเกษตรและเก็บเกี่ยว เพื่อการวางแผนพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก การประเมินศักยภาพและการคาดการณ์ผลผลิต เพื่อเก็บเกี่ยวและนำออกสู่ตลาด นั่นหมายความถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกในอนาคตอีกด้วย
หากจะมองถึงประโยชน์ของการดำเนินโครงการนี้ ยอมรับเลยว่าสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับวงการเกษตรของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการเกษตรเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเสมอภาค นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การพัฒนาระบบการตลาดและฐานการผลิตร่วม เพื่อพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และนี่จึงถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนการกำหนดแผน นโยบาย และการบูรณาการด้านการเกษตรระดับประเทศได้ดีทีเดียว (http://gisagro.gistda.or.th)
เว็บไซต์นี้ใช้งานคุกกี้ ในการใช้งานสามารถใช้งานเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เว็บไซต์นี้จะมีเก็บค่าคุกกี้ เพื่อให้การใช้งานเว็บไซต์ของท่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นส่วนตัวมากขึ้น จึงขอให้ท่านรับรองว่าท่านได้อ่านและทำความเข้าใจนโยบายการใช้งานคุกกี้ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล GISTDA
เว็บไซต์นี้ใช้งานคุกกี้ ในการใช้งานสามารถใช้งานเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เว็บไซต์นี้จะมีเก็บค่าคุกกี้ เพื่อให้การใช้งานเว็บไซต์ของท่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นส่วนตัวมากขึ้น จึงขอให้ท่านรับรองว่าท่านได้อ่านและทำความเข้าใจนโยบายการใช้งานคุกกี้ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล GISTDA