Head GISDTDA

เอลนีโญ ลานีญา ปรากฏการณ์ที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ “เอลนีโญและลานีญา” (El Niño , La Niña ) กันมาบ้างแล้ว แต่ยังคงสับสนกับปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างไรบ้าง..??

   โดยปกติแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือมหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา มีกระแสลมหรือเรียกว่าลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้จึงให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ด้วยปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา จะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่กล่าวมานั้นเกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก ตามลำดับ

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ

เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหล ไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

ปรากฏการณ์ ลานีญา 

เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้


ปีนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญา จริงหรือไม่..??

   องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) เปิดเผยข้อมูลปี พ.ศ.2563 เป็นปีที่ร้อนที่สุดที่ผ่านมา แต่มีการคาดการณ์ว่าจะมีปรากฎการณ์ลานีญาเกิดขึ้น และมีโอกาสเกิด 60% ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ที่จะส่งผลให้มีพายุมากขึ้นด้วยเช่นกัน จากปรากฎการณ์ลานีญานี้คาดว่าจะกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทยในปี 2564 แบบที่เรียกว่า “น้ำท่วมกระจุกแห้งแล้งกระจาย” โดยปรากฎการณ์ลานีญาทำให้ฝนจะมาเร็วและอาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้งในเดือนเมษายนเนื่องจากอิทธิพลพายุฤดูร้อน ซึ่งปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ นั่นอาจจะเป็นผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา จากนั้นในเดือนพฤษภาคมปริมาณฝนจะเริ่มน้อยลงจนถึงเดือนมิถุนายนถึงจะมีฝนกลับมาตกเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมจะเกิดฝนทิ้งช่วง ดังนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในภาคการเกษตรกรรมได้ แต่เมื่อเริ่มเข้าเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนตุลาคมปริมาณฝนจะเริ่มกลับมาตกหนักถึงหนักมากขึ้นในบางแห่ง มีการคาดการณ์ว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนนี้ในอดีตประมาณ 80 มิลลิเมตรหรือมากกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และภาคตะวันตกตอนบนในจังหวัดตาก ที่มีพื้นที่เป็นภูเขาที่มีความลาดชันสูง บวกกับสภาพพื้นที่บางแห่งมีความอ่อนไหวต่อการพังทลายหรือทรุดตัวของดินได้ง่าย รวมถึงพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ถูกบุกรุกทำลายไปด้วยแล้ว พื้นที่บริเวณนั้นจะมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำฝนที่ตกชุกและติดต่อกันเป็นเวลานานได้ลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดดินถล่มหรือโคลนถล่ม (Landslide or Mass movement) ได้ นอกจากนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมบนที่ราบลุ่มตามมา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถรองรับมวลน้ำในปริมาณมากได้ หลังจากนั้นในเดือนกันยายนและตุลาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะต้องเฝ้าระวังสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน และหากมีพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ พัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลักษณะพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยก็ต้องเฝ้าระวังด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน สำหรับพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดอ่อนจะเกิดน้ำท่วม ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่องและมวลน้ำหลากจากภาคเหนือตลอดเดือนตุลาคมอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ช่วงปลายฤดูฝน จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จะเกิดน้ำท่วมจากการระบายน้ำฝนที่ตกหนักนานติดต่อกันหลายชั่วโมงลงสู่คลองและทะเลไม่ทัน จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์น้ำจะหลากท่วมพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม รวมถึงน้ำอาจจะท่วมส่งท้ายปีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และจังหวัดสงขลา ผู้ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 

   ผลจากปรากฏการณ์ลานีญาอาจทำให้เกิดการสูญเสียในด้านต่างๆตามมามากมาย ประชาชนจึงต้องมีการเตรียมแผนรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี พ.ศ. 2564 นี้  คอยติดตามสภาพอากาศ และประเมินแนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เตรียม มาตรการช่วยเหลือเยียวยา และแผนการฟื้นฟูเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้เสมอการการวางแผนเตรียมการรับมือจึงมีความสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

#gistda #จิสด้า #จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #ภูมิอากาศ #ลานีญา #เอลนีโญ

_____________
ขอบคุณข้อมูลจาก 
นายไกรรพ พงศ์พิบูลเกียรติ นักภูมิสารสนเทศ

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) วิเคราะห์สถานการณ์น้ำปี 2564
https://www.thairath.co.th/news/local/2004835 ( 2 ม.ค. 2564)

ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ
https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B... ( 21พ.ค. 2564)

Admin 11/8/2564 251383 1
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง