Head GISDTDA

เทคโนโลยีที่พึ่งพาได้

ยามใดที่คนกลุ่มหนึ่งตกที่นั่งลำบากไม่ว่าจะด้วยจากอุบัติภัยจากธรรมชาติหรือจากความขัดแย้งของมนุษย์ มักจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งยื่นมือคอยให้การช่วยเหลือเสมอ นับว่าเป็นสิ่งดีงามและการแสดงออกพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ต้องอาศัยร่วมกันในสังคมโลกใบนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมามีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนให้ภารกิจการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งในยามวิกฤติและเพื่อการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 
.
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian assistance) คือความช่วยเหลือเฉพาะหน้าในเรื่องที่จำเป็น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัยชั่วคราว เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ไร้ที่อยู่, ผู้ลี้ภัย และผู้ประสบภัยจากภัยธรรมชาติ, สงคราม และความอดอยาก ซึ่งมักจะเป็นความช่วยเหลือระยะสั้นจนกว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง จะเข้ามาช่วยเหลือในระยะยาว วัตถุประสงค์เพื่อการช่วยชีวิตหรือบรรเทาความทุกข์เป็นสำคัญ
.
ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีภารกิจเพื่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นจำนวนมาก ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมไทยของเรามาอย่างยาวนาน ก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มจิตอาสาที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น อาทิ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นต้น
.
ในระดับสากลมีสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานหน่วยงานขององค์กรสหประชาชาติที่มีภารกิจด้านมนุษยธรรมและเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ Inter-Agency Standing Committee (IASC) เช่น FAO, IOM, UNDP, UNFPA, UNHABITAT, UNHCR, UNICEF, WFP และ WHO เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์จากอุบัติภัยจากทั้งธรรมชาติและสงครามที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ร้องขอความช่วยเหลือจากสากล เช่น เหตุการณ์พายุโซนร้อนราอีที่ได้พัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ ปัจจุบันคณะทำงานด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติก็กำลังอยู่ในระหว่างปฎิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือ
.
เอกสาร Disaster Response in Asia and The Pacific โดย UNOCHA ได้ระบุเกี่ยวกับเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมนอกเหนือจากกลไกความร่วมมือและงบประมาณแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและทำแผนที่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการประเมินการให้ความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน เพราะอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแผนที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารให้เห็นภาพรวมของปัญหา และข้อมูลจากดาวเทียมทำให้ทราบถึงข้อมูลสถานะการณ์ล่าสุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สถานที่เกิดเหตุ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนประชากรที่ได้รับความเสียหาย หรือพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งแคมป์ชั่วคราวแก่ผู้ที่สูญเสียที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการวิเคราะห์ทางภูมิสารสนเทศ
.
สำหรับประเทศไทยแล้วนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหน่วยงานที่พร้อมทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยและด้านการสนับสนุนข้อมูลเพื่อภารกิจการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูล GIS พื้นฐาน ข้อมูลเหตุการณ์มุมมองจากโดรนและผลการวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือในแต่ละเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า เหตุการณ์โรงงานระเบิด เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศ สาธารณูปโภคพื้นฐานที่พร้อมสนับสนุน การเข้าถึงเทคโนโลยี และแผนรับมือกับเหตุภัยพิบัติทั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเฉพาะหน้า
.
ในส่วนของ GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศไทยที่รับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม ปัจจุบันมีความพร้อมในการสนับสนุนข้อมูลทั้งเพื่อภารกิจเพื่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และเพื่อภารกิจการพัฒนาประเทศโดยสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ การสนับสนุนภายในประเทศนั้น GISTDA ได้วางแผนงานและพัฒนาระบบการติดตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และฝุ่นละออง เป็นต้น
.
สำหรับการสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างประเทศ ที่ผ่านมา GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภายใต้โครงการ Sentinel Asia โดย JAXA และความร่วมมือ the Regional Space Applications Programme for Sustainable Development (RESAP) โดย UNESCAP เพื่อส่งต่อให้กับประเทศที่กำลังเผชิญเหตุภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
.
ทั้งนี้นอกจากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมแล้ว GISTDA โดย ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ (SOAR) ยังได้พัฒนาระบบวางแผนภารกิจดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Operation Planning Tool for Earth-observation Mission (OPTEMIS) ให้กับโครงการ Sentinel Asia เพื่อบริหารจัดการดาวเทียมในการวางแผนถ่ายภาพในพื้นที่ประสบเหตุภัยพิบัติ เป็นระบบปฏิบัติการกลางเพื่อจัดแผนการทำงานร่วมกันสำหรับทุกหน่วยงานในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมอวกาศที่ได้พัฒนาโดยคนไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติในระดับสากล
.
ภารกิจการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปไกลแค่ไหน แต่มนุษย์เราไม่เคยละเลยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและยังนำเอานวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นกลับมาใช้เพื่อสนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือ เช่นเดียวกับ GISTDA ที่นอกจากจะมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากพัฒนานวัตกรรมอวกาศเพื่อการพัฒนาประเทศแล้ว แต่ยังให้ความสำคัญกับการนำกลับมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเพื่อให้มนุษยชาติสามารถพึ่งพิงผิงได้แม้ในยามยากลำบาก
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #THEOS2 #อุบัติภัย #ขัดแย้ง #การช่วยเหลือ #เพื่อนมนุษย์ #บรรเทา #ความทุกข์ #แผนที่ #ภาพถ่ายจากดาวเทียม

Admin 28/12/2564 1096 0
Share :