Head GISDTDA

ลูกเห็บ ของฝากจากเมฆฝน

     ในสภาพอากาศที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวทำให้เกิดความแตกต่างของสภาพอากาศ แน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็หนีไม่พ้นพายุฝนฟ้าคะนอง แต่รู้ไหมครับว่าภายในกลุ่มพายุลูกนั้นนอกจากเสียงฟ้าร้อง (thunder) แสงที่เกิดจากฟ้าผ่า (lightning) ในบางครั้งยังมีวัตถุรูปร่างคล้ายทรงกลมตกลงมาอีกด้วย วันนี้แอดมินเลยจะขออนุญาตพาแฟนเพจทุกคนไปรู้จักกับวัตถุประหลาดชิ้นนั้นกัน และนอกจากนั้นเราจะสามารถนำศาสตร์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศด้านไหนมาใช้ประโยชน์ในการตรวจจับวัตถุเหล่านั้นได้บ้าง มาติดตามกันครับ

.
     วัตถุประหลาดนั้นก็คือลูกเห็บ เป็นก้อนน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นบนท้องฟ้าจากสภาพอากาศที่มีเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง โดยในเมฆจะมีกระแสอากาศที่แปรปรวน ทำให้เม็ดฝนหรือละอองน้ำถูกกระแสอากาศพัดพาขึ้นสูงถึงยอดเมฆ ซึ่งบริเวณนั้นอุณภูมิจะต่ำมากทำให้เม็ดฝนแข็งตัว และหากถูกพัดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการปะทะกับละอองน้ำหรือเม็ดฝนเม็ดอื่นๆ จนในที่สุดเมื่อกระแสอากาศไม่สามารถพยุงได้ก็จะตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก กลายเป็นลูกเห็บที่ปรากฏอยู่ในข่าวนั่นเอง โดยพายุฝนฟ้าคะนองที่เป็นสาเหตุของการเกิดลูกเห็บนั้นปกติแล้วสามารถเกิดได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย เนื่องจากด้วยตำแหน่งของประเทศที่อยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเอื้อต่อการเกิดฝนฟ้าคะนองเป็นปกติ

.
     ส่วนลูกเห็บนั้นมันเหมือนหรือแตกต่างกับหิมะอย่างไร ในเมื่อมันก็เป็นน้ำแข็งเหมือนกัน ?? ต่างครับ ถึงแม้ว่าทั้งคู่ต่างก็เป็น ‘น้ำฟ้า’ หรือ ของเหลวที่เกิดผลึกกลายเป็นของแข็งบนฟ้าแล้วตกลงมายังพื้นโลก แต่หิมะจะเกิดขึ้นจากอากาศมีอุณหภูมิต่ำว่าจุดเยือกแข็ง (0 องศาเซลเซียส) ทำให้ละอองน้ำกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง (ควบแน่น) ในที่สุด ซึ่งในประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์หิมะตกมาก่อน ในด้านของผลกระทบและความเสียหายนั้นยังไม่เคยมีบันทึกการเสียชีวิตจากลูกเห็บตกโดยตรง แต่จะเสียชีวิตจากการถูกฟ้าฝ่า หรือต้นไม้หล่นทับจากการเกิดพายุ ฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรงเสียมากกว่า โดยความเสียหายของลูกเห็บนั้นจะเกิดกับสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน และยานพาหนะ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดและความเร็วของลูกเห็บที่ตกลงมาจากฟ้า ซึ่งลูกเห็บที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยถูกบันทึกไว้ มีน้ำหนักราวๆ 878 กรัม และสามารถทำความเร็วได้ตั้งแต่ 40 – 160 km/hr เลยทีเดียว

.
     แล้วเราจะตรวจจับหรือเฝ้าระวังปรากฎการณ์นี้ได้หรือไม่ ? คำตอบคือสามารถทำได้ครับ ด้วยเทคโนโลยีที่ชื่อว่าเรดาร์ (Radar) หลักการทำงานของเรดาร์นั้นคือการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไป หากกระทบกับวัตถุก็จะสะท้อนสัญญาณกลับคืนสู่เครื่องส่งสัญญาณอีกครั้ง ทำให้สามารถระบุได้ว่าวัตถุนั้นๆ มีระยะห่างจากเครื่องส่งสัญญาณเท่าไหร่ และกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าใด ซึ่งเป้าหมายหรือวัตถุแต่ละชนิดจะมีค่าการสะท้อนที่แตกต่างกันออกไป จุดนี้เองทำให้สามารถจำแนกและตรวจสอบได้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นเม็ดฝน หิมะ หรือลูกเห็บกันแน่

.

     ปัจจุบันเทคโนโลยีเรดาร์ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น จากเดิมจะเป็นเรดาร์ชนิด Single Polarization มีการส่งคลื่นเพียง 1 แกน คือแกนแนวนอน (Horizontal)  แต่เรดาร์ชนิด Dual Polarization Radar นั้นเพิ่มการส่งคลื่นในแนวตั้ง (Vertical) เพิ่มอีก 1 แกน เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานตรวจจับและพยากรณ์อากาศได้ดียิ่งขึ้น เพราะจะสามารถตรวจสอบและจำแนกวัตถุเป้าหมายได้แม่นยำว่าวัตถุเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือเม็ดฝน ลูกเห็บ หิมะ หรือนกกันแน่ นอกเหนือจากนั้นเทคโนโลยีอวกาศก็มีความสำคัญในการทำงานด้านอุตุนิยมวิทยาไม่แพ้กัน ซึ่งนั่นก็คือดาวเทียมนั่นเอง

.

     ดาวเทียม (Satellite) อุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วปล่อยไว้ในวงโคจรรอบโลก เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เพื่อการถ่ายภาพ โทรคมนาคม สำรวจทรัพยากร และงานด้านอุตุนิยมวิทยาที่เรากำลังเขียนถึงในบทความนี้ โดยดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Satellite) สามารถแบ่งได้ 2 ชนิดตามลักษณะของวงโคจร คือ 1) ชนิดโคจรผ่านใกล้ขั้วโลก (Polar Orbiter) 2) ชนิดโคจรประจำที่ (Equator Orbiter) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีการติดตัวรับสัญญาณ (Sensor) ช่วงคลื่นที่มนุษย์มองเห็นและช่วงคลื่นอินฟราเรด แน่นอนว่าเป็นหลักการเดียวกับเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) 

.

     สำหรับดาวเทียมที่ประเทศไทยใช้ในงานด้านอุตุนิยมวิทยาและการพยากรณ์อากาศมีชื่อว่า “ฮิมาวาริ” (Himawari-8) เป็นดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่นที่คอยแสดงผลและรายงานสภาพอากาศกันแบบเรียลไทม์ ความโดดเด่นของเจ้าฮิมาวารินั่นคือการที่สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูง ส่งผลตรวจสภาพอากาศได้ทุกๆ 10 นาที และไม่ต้องรอการโคจรกลับมาถ่ายภาพซ้ำเนื่องจากเป็นดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งการลอยอยู่ข้างบนหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์เพียงด้านเดียวนั้นอาจเป็นที่มาว่าทำไมดาวเทียมดวงนี้ถึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอกทานตะวันของชาวญี่ปุ่น”  

.
     นอกจากข้อมูลเรดาร์ หรือข้อมูลจากดาวเทียมฮิมาวาริ GISTDA เองก็มีเว็ปไซต์ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารในด้านอุตุนิยมวิทยาและการติดตามสถานการณ์น้ำ เป็นการสนับสนุน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในเว็ปไซต์ประกอบไปด้วยบริการต่างๆ  เช่น การติดตามกลุ่มฝนด้วยดาวเทียม GSMaP , การติดตามกระแสลมรายวัน โดยสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ http://flood.gistda.or.th และสำหรับบทความต่อไปแอดมินจะนำข่าวสารหรือเทคโนโลยีด้านไหนมานำเสนอ สามารถกดติดตาม Facebook Fanpage เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้พลาดทุกความเคลื่อนไหว หรือตามเข้าไปอ่านบทความอื่นๆ ย้อนหลังได้ที่ bit.ly/3JLglTF ขอบคุณครับ

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #ลูกเห็บ #ปรากฎการณ์ธรรมชาติ #เรดาร์ #Radar #ดาวเทียม #Satellite #ฮิมาวาริ #Himawari-8 #GSMaP #มองไปกับเป็ด

Phapawich Mahamart 28/2/2565 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง