Head GISDTDA

ดาวเทียมรายละเอียดสูงสำหรับงานด้านอาชญากรรม

ภาพถ่ายจากดาวเทียมทำให้เราทั้งเห็นภาพกว้างของพื้นที่หรือซูมไปจนเห็นรายละเอียดบนท้องถนน เช่น ประเภทหรือสีของรถที่กำลังวิ่งบนถนน เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในบริบทของการบันทึกข้อมูลปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลกในแต่ละช่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง

.

ปัจจุบันมีดาวเทียมสำรวจฯทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการถ่ายภาพโลกแบบรายละเอียดสูงเป็นจำนวนมาก ที่ก้าวหน้าไปกว่านั้นเอกชนบางรายได้พัฒนากลุ่มดาวเทียมสำรวจฯขนาดเล็กที่สามารถทำงานร่วมกันจำนวนมาก เพื่อเพิ่มจำนวนรอบในการถ่ายภาพโลกต่อวันให้มากขึ้นส่งผลให้มีข้อมูลเพียงพอเพื่อตรวจสอบปรากฏการณ์บนพื้นโลกย้อนหลัง

.

ในประเทศอังกฤษมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสนับสนุนงานสืบสวนครอบคลุมตั้งแต่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปจนถึงคดีฆาตกรรม ในบางกรณีต้องใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมตรวจสอบย้อนหลังหลายเดือนหรือหลายปีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง

.

ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่ประเทศไอร์แลนด์ ชาวนาได้เข้าครอบครองพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อหวังจะนำหญ้าไปเป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงของเขา โดยอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของว่าพวกเขาได้ทำการปลูกหญ้าไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ทว่าภาพถ่ายจากดาวเทียมที่บันทึกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าวเผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหญ้าเหล่านี้เพิ่งจะปรากฏในภาพถ่ายจากดาวเทียมย้อนหลังไปเพียง 2 เดือน

.

แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีที่จะสามารถหาหลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียมได้ พวกเขาเคยได้รับการว่าจ้างให้สืบหาร่องรอยของคนร้ายที่เข้าไปขโมยของในช่วงกลางดึก โชคร้ายที่ไม่มีดาวเทียมดวงไหนถ่ายภาพในวันและเวลาที่เกิดเหตุได้เนื่องจากดาวเทียมสำรวจฯรายละเอียดสูงที่พวกเขาใช้นั้นส่วนมากเป็นดาวเทียมในระบบ Optical ที่จำเป็นต้องใช้แสงอาทิตย์ในการบันทึกภาพ ดังนั้นดาวเทียมระบบ Optical ส่วนมากจึงไม่มีเปิดหน้ากล้องถ่ายภาพโลกในโซนที่เป็นช่วงเวลากลางคืน

.

สำหรับประเทศไทยก็มีการประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศเพื่อประกอบสำนวนคดีมาแล้วเป็นเวลานาน ภายใต้การสนับสนุนการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจาก GISTDA ไม่ว่าจะเป็นคดีรุกล้ำที่ดิน คดีพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดิน คดีลักดินจากโครงการขุดอุโมงค์ของรัฐเพื่อใช้ทำประโยชน์ในที่เอกชน และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

.

จะเห็นได้ว่าดาวเทียมแม้จะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพหรือบันทึกข้อมูลได้ตามต้องการเสมอไป เราลองมาทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับข้อจำกัดเหล่านี้กันเพื่อประสิทธิผลของการนำไปใช้งานจริงในอนาคต

.

#ความถี่ในการถ่ายภาพซ้ำ (temporal resolution) ด้วยลักษณะของวงโคจดาวเทียมสำรวจทรัพยากรประเภทรายละเอียดสูง ที่ไม่ใช่วงโคจรแบบค้างฟ้า ดังนั้นตัวดาวเทียมจะมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาและวนกลับมาถ่ายภาพนิ่งซ้ำ ณ พื้นที่เดิมบนโลกใช้เวลาประมาณ 1 วัน นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ยาก หากใช้ดาวเทียมถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ เพราะดาวเทียมถ่ายได้เพียง 1 ภาพต่อพื้นที่ต่อวันเท่านั้น แต่ถ้าหากต้องการติดตามการเปลี่ยนภายในพื้นที่เดิมในรอบ 1 วัน ก็สามารถทำได้ เช่น การตรวจสอบรถผู้ต้องสงสัยที่จอดอยู่ในลานจอดรถกลางแจ้งเป็นเวลาหลายวัน เป็นต้น

.

#รายละเอียดภาพ (spatial resolution) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรประเภทรายละเอียดสูงที่เปิดให้พลเรือนเข้าถึงข้อมูลในปัจจุบัน มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล (pixel) ที่ละเอียดที่สุดคือ 30 เซนติเมตร หมายถึงวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 30x30 เซนติเมตร จึงจะสามารถเห็นได้บนภาพถ่ายจากดาวเทียมประเภทนี้ แน่นอนว่าดาวเทียมประเภทนี้สามารถถ่ายเห็นกลุ่มคนที่กำลังยืนอยู่ในที่โล่งแจ้งได้ แต่ยากที่จะสามารถระบุตัวตนได้และภาพที่ได้ก็ไม่คมชัดเท่ากับ CCTV หรือภาพจากโดรน เนื่องด้วยข้อจำกัดของความสูงวงโคจรของดาวเทียม

.

#ขนาดของภาพ (size) ภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูงมีขนาดไฟล์ที่ค่อนข้างใหญ่มาก เนื่องจากแต่ละพิกเซลภาพใช้เก็บค่าความสว่างของแต่ละแบนด์ที่เราเรียกว่า บิต ซึ่งมีผลต่อลักษณะสีของภาพดาวเทียม ยิ่งดาวเทียมรายละเอียดสูงที่มีจำนวนบิตที่สูงประกอบกับจำนวนพิกเซลที่มีจำนวนมากจึงส่งผลให้ไฟล์ของภาพมีขนาดใหญ่กว่าภาพดาวเทียมประเภทรายละเอียดปานกลางและรายละเอียดต่ำ

.

ขนาดของภาพนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางเจ้าของดาวเทียมที่ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนเลือกที่ถ่ายภาพเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสำคัญเท่านั้นหรือในพื้นที่ที่คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัท ดังนั้นหากเป็นอาชญากรรมที่เกิดกระทันหันในพื้นที่ที่นอกเหนือพื้นที่ถ่ายภาพที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว โอกาสที่จะได้ข้อมูลนั้นก็ถือว่ายากมาก

.

เว้นเสียแต่ว่าเหตุการณ์ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่เดิม เช่น เหตุการณ์ประท้วงเผาทำลายอาคารบ้านเรือน เป็นต้น ดาวเทียมก็จะสามารถจับภาพเหตุการณ์และความเสียโดยรวมไว้ได้ จากการโปรแกรมพื้นที่ถ่ายภาพไว้ล่วงหน้า

.

#แสงสว่าง (light) ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เราคุ้นเคยจากทั้ง Google Maps หรือ Google Earth นั้น ล้วนเป็นภาพที่ถ่ายด้วยดาวเทียมสำรวจทรัพยากรแบบรายละเอียดสูงที่มีเซนเซอร์เแบบ Optical บันทึกภาพในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากเป็นเซนเซอร์ที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์เพื่อการมองเห็นและบันทึกข้อมูล เสมือนกับตาของเราที่หากเราอยู่ในที่มืดก็จะไม่สามารถมองเห็น ต้องเป็นในพื้นที่ที่มีแสงเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะมีได้ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ยกเว้นเป็นการถ่ายแสงไฟยามค่ำคืน

.

ปัจจัยเหล่านี้แม้จะเป็นอุปสรรคเชิงเทคนิคที่ทำให้การใช้งานภาพถ่ายจากดาวเทียมดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับใครหลายๆคน แต่ด้วยบทพิสูจน์หลายครั้งที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า หากนำภาพไปใช้งานได้ถูกกับสถานการณ์ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการวิเคราะห์ที่ได้รับมาตราฐาน ภาพเพียงหนึ่งภาพจะสามารถแทนคำพูดได้นับพันและสามารถเปลี่ยนเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มหาศาลได้เสมอ

.

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #ดาวเทียมรายละเอียดสูง #งานสืบสวนสอบสวน #อาชญากรรม

phakpoom.lao 20/4/2565 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง