Head GISDTDA

Earth_Space_System_Frontier_Research การวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศขยายพรมแดนความรู้เพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต

กิจการอวกาศเติบโตได้หรือไม่หากไร้การสำรวจและวิจัย? และทำไมจึงเรียกว่าเป็นการวิจัย “ขั้นแนวหน้า”
.
เชื่อว่าน้อยคนที่จะทราบว่าวิทยาการสำคัญต่าง ๆ หลายอย่างในโลกตอนนี้ เป็นผลมาจากโครงการสำรวจวิจัยและค้นคว้าทางอวกาศที่นำไปต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ด้านความปลอดภัย ตั้งแต่การช่วยชีวิตมนุษย์จากภัยธรรมชาติ ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวเรือนหลายอย่างที่เราคุ้นเคย เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาล้วนมีรากฐานจากการวิจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ กิจการอวกาศก็เช่นกัน ล้วนต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพื่อการค้นพบและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
.
การสำรวจและวิจัยทางอวกาศ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการเดินทางไปยังอวกาศเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเป้าหมายอื่นที่ล้ำค่ากว่า เป้าหมายที่มนุษยชาติจะค้นพบองค์ความรู้ ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงนำไปสู่แนวทางการแก้ไขประเด็นวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญ สามารถตอบโจทย์ได้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน จะทำอย่างไรจึงจะสามารถแปลงความมั่งคั่งทางทรัพยากรให้เป็นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ซึ่งแม้ว่าคำตอบที่แท้จริง ณ วันนี้เราอาจยังก้าวไปไม่ถึง แต่ก้าวแรกที่จะนำไปสู่คำตอบ คือการริเริ่ม “การวิจัยขั้นแนวหน้า”
.
การวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research คำว่า “แนวหน้า” นี้ไม่ได้หมายถึงการวิจัยที่สูงส่งหรือสำคัญกว่าการวิจัยอื่น ๆ แต่เป็นการวิจัยเชิงลึกและบูรณาการข้ามสาขาเพื่อก้าวข้ามขอบเขตความรู้ที่มีอยู่ “ขยายพรมแดนความรู้” ที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์คือการค้นพบสิ่งใหม่ เกิดองค์ความรู้ใหม่ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่อยอดในหลายด้าน ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ตอบสนองความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแม้ว่าการวิจัยขั้นแนวหน้านั้นอาจต้องใช้งบประมาณ เวลา และมีความเสี่ยงในการลงทุนที่สูง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและประโยชน์มหาศาล จนหลายครั้งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมได้เลยทีเดียว
.
ในส่วนของงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ (Earth Space System Frontier Research) หรือที่เรียกว่า “ESS” เป็นการบูรณาการข้ามสาขาบนฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ มุ่งเน้นการ “สร้าง” ทั้งองค์ความรู้ใหม่ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี นวัตกรรม บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็น “เลิศ” ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในอวกาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทย ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในยุคแห่ง “VUCA World” ที่โลกมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
.
ESS ในประเทศไทย ถูกขับเคลื่อนโดยทีมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบโลกและอวกาศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการวิจัยข้ันแนวหน้าด้าน ESS โดยประกอบไปด้วย 2 กรอบการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1) อวกาศเพื่อความยั่งยืนของระบบโลก (Space for Earth System Sustainability) เป็นการศึกษาการใช้โอกาสจากอวกาศในการฟื้นฟูและธำรงรักษาความยั่งยืนของระบบโลกอย่างเป็นรูปธรรม และ 2) อวกาศเพื่อเศรษฐกิจแห่งอนาคตและสังคมยุคใหม่ (Space for Future Economy and New Society) เป็นการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศในมิติเศรษฐกิจและสังคม
.
ESS ให้ความสำคัญกับสร้างองค์ความรู้รากฐานสำหรับต่อยอดไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ เพราะรากฐานที่มั่นคงย่อมสร้างผลลัพธ์ที่ดี โดยมีรากฐานสำคัญของการวิจัยขั้นแนวหน้าในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาทางกายภาพและชีวภาพของทรัพยากรบนพื้นโลก การศึกษาพลวัตของชั้นบรรยากาศโลก การศึกษาผลกระทบของโลกจากปรากฎการณ์ในห้วงอวกาศ การศึกษาภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงในระดับต่าง ๆ ซ่ึงไม่สามารถจำลองได้บนผิวโลก และการศึกษาวัตถุในห้วงอวกาศ ปรากฎการณ์ และพลวัตจักรวาล รากฐานเหล่านี้เองที่จะนำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ก้าวข้ามปราการความรู้เดิมอย่างไม่สิ้นสุด
.
ESS สามารถสร้างโอกาสจากห้วงอวกาศทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร? ขอยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนาขั้นแนวหน้าด้าน ESS ที่ต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มองเห็นภาพกันมากขึ้น ตั้งแต่ระดับที่ใกล้ตัวเรา อย่างการจัดการฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศ นวัตกรรมอุณหพลศาสตร์แม่นยำสูง การพยากรณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นวัตกรรมทางชีวการแพทย์ การใช้ประโยชน์จากรังสีในช่วงคลื่นต่าง ๆ การใช้ประโยชน์พลังงานอย่างยั่งยืน ไปจนถึงการวิจัยในห้วงอวกาศ อย่างเทคโนโลยีอากาศยาน การทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Microgravity) หรือภาวะสุญญากาศ (Zero gravity) การจัดการวงโคจร การจัดการขยะอวกาศ การสำรวจแหล่งแร่บนดาวเคราะห์ การทดลองเพาะปลูกพืชบนอวกาศ การพัฒนาระบบพยุงชีพบนดาวอังคาร การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น รวมถึงการรับมือกับผลกระทบจากห้วงอวกาศ เช่น พายุสุริยะรบกวนเทคโนโลยีการสื่อสาร ความปลอดภัยในการจราจรอากาศ เป็นต้น
.
ในส่วนของ GISTDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการวิจัยขั้นแนวหน้าด้าน ESS ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยที่เรียกว่า “Astrolab” (Astrodynamics Research Laboratory) เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศใน 4 ด้าน ได้แก่ การวิจัยและศึกษาพลวัตของการบินในอวกาศ (Space flight dynamics) การวิจัยพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียมขนาดเล็ก (Onboard flight software for small satellite) การวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตที่กระทบต่อมวลมนุษยชาติ (Space debris and asteroid mitigation) และ การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast) โดย Astrolab ตั้งอยู่ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
.
โดยผลงานการวิจัยขั้นแนวหน้าที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ที่สามารถสร้างประโยชน์มหาศาลอย่างเป็นรูปธรรมของ Astrolab คือ “ระบบ ZIRCON” ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมจากการวิจัยด้าน Space Debris and Asteroid Mitigation เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการจราจรอวกาศ สามารถติดตาม วิเคราะห์ และแจ้งเตือนการพุ่งชนของวัตถุอวกาศล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน รวมถึงวิเคราะห์แนวทางการปรับวงโคจรเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง ลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับดาวเทียมในความดูแลของ GISTDA โดยที่ผ่านมาระบบ ZIRCON ได้ปฏิบัติการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการพุ่งชนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ GISTDA สามารถวางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าโครงการ THEOS-2 จะใช้ระบบนี้ในภารกิจดาวเทียมเช่นกัน
.
นอกจากนี้ GISTDA ยังได้สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการวิจัยต่าง ๆ ด้านระบบโลกและอวกาศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญ นำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเป็นการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย
.
ในโอกาสนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกันจัดการสัมมนา “ก้าวต่อไปของแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ” หรือ “Earth Space System Frontier Research National Roadmap: NEXT Step” วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 เพื่อจะร่วมกันพัฒนาแผนการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศของประเทศไทย เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรอดพ้นหรือ บรรเทาวิกฤตต่างๆ ในอนาคต รวมไปถึงโอกาศจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีอวกาศเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และความมั่งคั่งของประเทศไทย ซึ่งสามารถชม live สดการสัมมนา ทาง GISTDA facebook fanpage ได้ตั้งแต่เวลา เวลา 09.00 – 15.00 น.
.
การวิจัยขั้นแนวหน้าคือจุดเริ่มต้นของวิทยาการอวกาศในอนาคต เป็นการขับเคลื่อนเพื่อขยายขอบเขตการค้นคว้าเพื่อได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นความพยายามในการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการแสวงหาความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ไม่ใช่เพียงแค่การครอบครองความมั่งคั่งหรือการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศโลกเท่านั้น แต่เป็นวิสัยทัศน์ความปรารถนาที่จะพัฒนาโลกนี้ให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเป็นไปได้และความอยู่รอดอย่างชาญฉลาดของมนุษยชาติต่อไปในอนาคต
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #เทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกล #นวัตกรรม #ข้อมูลจากดาวเทียม #การวิจัย #ขั้นแนวหน้า #ขับเคลื่อนประเทศไทย #บรรเทา 

phakpoom.lao 9/9/2565 0
Share :