Head GISDTDA

SPACE Update : THEOS-2 เตรียมแท็กทีมไทยโชต ยกระดับประสิทธิภาพข้อมูลดาวเทียม

 

อย่างที่ทราบกันว่า ดาวเทียมไทยโชตได้ทำภารกิจเดี่ยวมาหลายปีแล้ว จะดีแค่ไหนกันนะถ้าเราส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

ช่วงนี้หลายคนคงกังวลกับสภาพอากาศในช่วงนี้ใช่ไหมครับ ฝนที่ต่อให้รู้ว่าจะตกแต่เดาไม่ได้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ จนปริมาณน้ำอาจท่วมขังในละแวกพื้นที่อยู่อาศัย สร้างความลำบากในหลาย ๆ ทาง

 

แต่เชื่อไหมครับว่าสถานการณ์แบบนี้ สามารถติดตามและตรวจสอบได้ด้วยผู้ช่วยจากวงโคจรโลกซึ่งคือ ดาวเทียมสำรวจโลกที่จะช่วยให้ข้อมูลในเชิงพื้นที่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ตอนนี้ดาวเทียมดวงเดียวของประเทศไทยที่ประจำการอยู่บนอวกาศคือไทยโชต ซึ่งทำหน้าที่มากว่า 14 ปี และปัจจุบันยังคงใช้งานได้อย่างเต็มสมรรถภาพ

 

และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบัน จึงทำให้ประเทศไทยเล็งเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีดาวเทียมรุ่นใหม่ภายใต้โครงการ THEOS-2 สานต่อภารกิจสำรวจโลก เพื่อส่งไม้ต่อจากไทยโชตไปยัง THEOS-2 ซึ่งจะช่วยเสริมสรรพกำลังและประสิทธิภาพการทำงานของดาวเทียมให้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละสถานการณ์ได้ทันท่วงที มาดูกันครับว่าดาวเทียมที่เราพูดถึงกันนั้น นอกจากจะสนับสนุนข้อมูลด้านน้ำท่วม ไฟป่า หรือภัยพิบัติต่าง ๆ แล้ว ยังทำอะไรได้อีกบ้าง

 

ภายใต้โครงการ THEOS-2 จะมีดาวเทียมจำนวน 2 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกเช่นเดียวกับไทยโชตชื่อว่า “ดาวเทียม THEOS-2” และ “ดาวเทียม THEOS-2A” เมื่อส่งขึ้นไปบนอวกาศแล้ว ดาวเทียมทั้ง 2 ดวง จะให้ข้อมูลที่นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งการทำแผนที่ การวางผังเมือง การติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การติดตามพื้นที่เพาะปลูกเพื่อคาดการณ์ปริมาณผลิตผลทางการเกษตร การติดตามผลกระทบจากภัยพิบัติ หรือการตรวจสอบพื้นที่ป่า เป็นต้น

 

ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เป็นเพราะเทคโนโลยีถ่ายภาพเชิงแสงรายละเอียดสูงมาก (Very High-Resolution Optical Satellite) ที่ติดตั้งไว้เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม จึงสามารถถ่ายภาพขาวดำรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร และภาพสีที่มีความละเอียด 2 เมตร โดยมีแนวถ่ายภาพความกว้างถึง 10.3 กิโลเมตร และสามารถถ่ายภาพด้วยความถูกต้องเชิงตำแหน่งสูงในระดับ 1 เมตรเมื่อทำงานร่วมกับ Ground Control Point นอกจากนั้น THEOS-2 ยังเข้าถึงพื้นที่ทั่วโลกได้ภายในเวลาไม่เกิน 4 วันในกรณีเอียงตัวถ่ายที่มุม 50 องศา

 

ส่วน THEOS-2A ที่เป็นดาวเทียมประเภทเดียวกันนั้นมีความพิเศษต่างจากดาวเทียมดวงอื่นที่สามารถบันทึกวีดีโอได้ โดยจะทำหน้าที่เมื่อต้องการข้อมูลในรูปแบบวีดีโอเป็นการแบ่งช่วงการทำงานกับ THEOS-2 ได้อย่างลงตัว

 

ทั้งนี้ หลังจากที่เราได้ภาพถ่ายจากดาวเทียมมาแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตและการจัดทำข้อมูลภาพเพื่อใช้ประโยชน์ตามภารกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป

 

การส่งดาวเทียมภายใต้โครงการ THEOS-2 ขึ้นไปเป็นการยกระดับเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและประโยชน์การใช้งานที่มากขึ้น อีกทั้งยังทำเพื่อให้ไทยโชตและ THEOS-2 อีก 2 ดวง สามารถสนับสนุนกันและกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้มากขึ้นอีกด้วย

amorn.pet 9/9/2565 1
Share :