Head GISDTDA

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565 (2) ไทยมีศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งแรก เติมเต็มระบบนิเวศอวกาศในประเทศ พร้อมให้บริการแบบครบวงจร

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565
.
ตอนที่ 2 ไทยมีศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งแรก เติมเต็มระบบนิเวศอวกาศในประเทศ พร้อมให้บริการแบบครบวงจร
.
ปัจจุบัน ประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลกกำลังพัฒนา วิจัย และทดสอบ ดาวเทียม หรือเครื่องมือต่างๆ ที่จะส่งออกไปสู่อวกาศ ซึ่งถือเป็นการเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจอวกาศ อย่างเช่น เหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา ที่บริษัทเอกชนได้จัดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ นำผู้โดยสารบินขึ้นไปสู่ชั้นอวกาศ ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก
.
อย่างไรก็ตาม ก่อนการนำส่งดาวเทียมหรือเครื่องมือต่างๆ ออกไปสู่ห้วงอวกาศ การทดสอบดาวเทียมและเครื่องมือนั้น จะถูกจำลองขึ้นบนโลกเพื่อให้แน่ใจว่า ดาวเทียมและเครื่องมือที่ถูกส่งขึ้นไปสู่อวกาศ สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย เช่น อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำแบบสุดขั้ว และทำตามเป้าหมายของภารกิจได้สำเร็จ ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตทางเทคโนโลยีอวกาศออกมาสักหนึ่งชิ้น องค์กรด้านอวกาศของประเทศนั้นๆ ต้องทุ่มงบประมาณทั้งเรื่องบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการออกแบบ ผลิต ทดสอบ เครื่องมือต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการทำภารกิจบนอวกาศได้
.
สำหรับประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสนับสนุนงานด้านวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย จึงเล็งเห็นความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ และได้เสนองบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเติบโตของเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยในอนาคต
.
ช่วงที่ผ่านมา GISTDA ได้ดำเนินโครงการ THEOS 2 ดาวเทียมสัญชาติไทยดวงใหม่ที่จะไปทำภารกิจบนอวกาศต่อจากดาวเทียมไทยโชต ซึ่งภายใต้โครงการนี้ GISTDA ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการอีกหนึ่งภารกิจ คือการพัฒนาดาวเทียมเล็ก ดังนั้น ในแง่ของความพร้อมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการดาวเทียมชื่อ GALAXI อุปกรณ์ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของดาวเทียม บุคลากรที่มีความสามารถและมีศักยภาพการออกแบบ มีองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างดาวเทียม ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม หรือ AIT ที่ใช้สำหรับการทดสอบดาวเทียม เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบในระบบนิเวศของการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในการพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย
.
ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ AIT เป็นการพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สร้างประกอบและทดสอบดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมเล็กในประเทศไทย และสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกในอนาคตด้วย รวมไปถึง ภายในศูนย์ยังมีห้องวิจัยและพัฒนาดาวเทียมระบบห้องสะอาดควบคุมอนุภาค (Clean room Class 100&100k) และอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม (Test Bench) ศูนย์ AIT ประกอบด้วยเครื่องมือทดสอบสภาวะต่างๆ ของชิ้นส่วนดาวเทียม ได้แก่ 1) การทดสอบการสั่นสะเทือน 2) การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ 3) การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ และ 4) การทดสอบคุณสมบัติของมวล ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA ได้ใช้เครื่องมือทั้งหมดทดสอบดาวเทียม THEOS-2A ที่ขนส่งมาถึงประเทศไทยตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
.
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เรื่องของเทคโนโลยีอวกาศยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ "GISTDA จึงพยายามเชิญชวนผู้ใช้บริการ AIT จากต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ของศูนย์ AIT เพื่อให้ผู้ใช้บริการเห็นศักยภาพของ AIT และสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานของ GISTDA ซึ่งในขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการบิน ในประเทศไทย ก็เริ่มเข้ามาใช้บริการเครื่องมือทดสอบที่อยู่ภายใน AIT เช่น ทดสอบการสั่นสะเทือนของวัสดุรถยนต์ และทดสอบคุณสมบัติของชิ้นส่วนเครื่องบิน เป็นต้น"
.
ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดให้บริการศูนย์ AIT วัตถุประสงค์หลักของที่นี่ AIT จะเน้นที่เรื่องการออกแบบ ประกอบ และทดสอบดาวเทียม รวมถึงการวิจัยพัฒนา ดังนั้น ในส่วนของการผลิตดาวเทียม GISTDA จึงได้ตั้งกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศไทยขึ้นมา เรียกว่า Space Agencies โดยได้คัดเลือกบริษัทในประเทศไทยที่มีศักยภาพผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมตามมาตรฐานของ Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ให้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมตามความต้องการในอนาคตต่อไป
.
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ เป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูงมาก บริษัทเอกชนจึงไม่สนใจลงทุนการให้บริการในงานด้านนี้ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้บริการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจอวกาศให้กับประเทศต่อไปในอนาคตได้" ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา GISTDA ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจยานยนต์ ได้เข้าร่วมโครงการ THEOS-2 โดยยกระดับการผลิตร่วมกับหน่วยงานชื่อดังจากต่างประเทศ จนสามารถผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็กได้
.
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ GISTDA ได้วางรากฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทย เมื่อผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ก็น่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปถึงระดับเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ
.
เมื่อการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ย่อมส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนในภาคการศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศต่อไป และในอนาคต GISTDA คาดว่า ประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้น
.
อีกหนึ่งแง่มุมของโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากสาธารณูปโภคทั้งหลายที่กล่าวมา บุคลากรที่มีศักยภาพก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทั้งในแง่ของความรู้พื้นฐาน และความรู้ใหม่ที่รับจากภายนอก จะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
.
ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ นับเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงยังช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขึ้นในประเทศ เปิดโอกาสให้เกิดการลงทุน การสร้างงาน และยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในเวทีสากลต่อไป
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม #ระบบนิเวศอวกาศ #เทคโนโลยีอวกาศ #ดาวเทียม #เศรษฐกิจอวกาศ #THEOS2 #ดาวเทียมเล็ก #AIT #ผู้ประกอบการ #การผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม #บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศ #การลงทุน #การสร้างงาน

phakpoom.lao 30/1/2566 0
Share :