ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกรุงไทย” ระบุว่า เทคโนโลยีอวกาศจะช่วยยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจภาคการเกษตรใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจเกษตร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจก่อสร้าง การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม จะช่วยลดผลกระทบต่อผลผลิตข้าวจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ราว 2,354 ล้านบาทต่อปี ในภาคขนส่ง การใช้เทคโนโลยีระบบนำทางจากดาวเทียมจะลดความเสียหายของผลผลิตระหว่างการขนส่งสินค้าส่งออกในกลุ่มผักและผลไม้ได้ราว 3,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาคก่อสร้าง สามารถนำเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีโดรน เพื่อทำการสำรวจและปรับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพก่อนดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลงราว 10-20%
นี่เป็นตัวเลขที่ทางศูนย์คาดการณ์ในภาคการเกษตรเท่านั้น ยังไม่นับรวมกับธุรกิจในภาคอื่นๆที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือภาคการเกษตร วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งที่เกษตรกรไทยกำลังทำอยู่ถือว่ามีความสำคัญและท้าทายมากในระดับโลกเลยทีเดียว นั่นหมายถึง ความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ นอกจากจะไว้บริโภคภายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย สิ่งที่ได้รับกลับมานอกจากรายได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผลผลิตและคุณภาพที่ส่งไปอีกด้วย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือในการส่งเสริมภาคการเกษตรในทุกมิติไปจนถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้อีกด้วย
ในภาคการเกษตร เทคโนโลยีอวกาศจะช่วยสนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการบริหารและตัดสินใจเพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อการวิเคราะห์ และติดตามพื้นที่เพาะปลูก ที่จะนำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณผลผลิตในอนาคต รวมทั้งการติดตามพื้นที่อุทกภัยที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต ซึ่งหากมีการใช้ข้อมูลติดตามและแจ้งข่าวสารอย่างจริงจังจะช่วยให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนเพื่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้อย่างทันท่วงที และไม่ส่งผลเสียหายต่อผลผลิต นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ อาทิ น้ำ อากาศ ความเหมาะสมของคุณภาพดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ในการวิเคราะห์เพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย อันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย นอกจากนี้ เทคโนโลยีอวกาศยังครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ที่ดิน น้ำ พืช ทรัพยากรต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ผ่านการบริหารจัดการข้อมูลด้วย GIS นำไปสู่การใช้งานด้านโซลูชั่น แอปพลิเคชัน ที่ง่ายยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยสนับสนุนและเติมเต็มในเรื่องการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและติดตามความท้าทายจากธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงภัยจากแมลงศัตรูพืช ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชนที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปกับโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆเพื่อตอบโจทย์ความท้ายทายที่หลากหลายทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคสังคม และภาคสิ่งแวดล้อม
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ศูนย์วิจัยกรุงไทย