Head GISDTDA

แอปฯ "เช็คน้ำ"

นับวันเทคโนโลยีอวกาศยิ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่ปัจจุบันย่อผลการวิเคราะห์สังเคราะห์มาไว้บนมือถือของทุกคนให้เข้าถึงและพร้อมใช้งานได้อย่างง่ายดาย เช่น แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ให้ข้อมูลพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 วิเคราะห์จากข้อมูลจากดาวเทียม และแอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” ให้ข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจิสด้าได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นทั้งสองไปก่อหน้านี้และยังคงให้บริการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
.
สำหรับในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงนี้ อีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำนั่นก็คือ “เช็คน้ำ” แอปพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลระดับน้ำ พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง โดยอ้างอิงข้อมูลทั้งจากอวกาศและภาคพื้นดินที่นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน อีกทั้งยังมีข้อมูลกลุ่มเมฆฝน และพื้นที่น้ำท่วมในปีพ.ศ.2554 เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ซึ่งพัฒนาโดยเจ้าหน้าที่ GISTDA ทั้งโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูล ระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน
.
หัวใจสำคัญของการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “เช็คน้ำ” คือการลดความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย โดยจะเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมให้กับประชาชนคนไทยโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำหรือในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมเป็นประจำได้รับรู้ถึงมวลน้ำที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำ หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นตลิ่ง แอปพลิเคชั่นก็จะมีการคาดการณ์พื้นที่น้ำที่จะท่วมให้ประชาชนได้เฝ้าระวังและเตรียมตัวได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากแอปลิเคชั่นจะแสดงตำแหน่งของผู้ใช้งานเทียบกับพื้นที่เสียงน้ำท่วมให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย 
.
ปัจจุบันแอปลิเคชั่น “เช็คน้ำ” เปิดให้ดาว์นโหลดแล้วทั้งระบบ iOS และ Android การเริ่มต้นใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน แต่จำเป็นต้องเปิดให้แอปพลิเคชั่นเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้งาน เพื่อที่เราจะได้รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ที่เรากำลังอยู่และเพื่อการรับมือได้อย่างทันการณ์ ซึ่งบทความนี้เราจะมาให้รายละเอียดข้อมูลที่แสดงในแต่ละเมนูที่ปรากฏในแอปพลิเคชั่นกัน เพื่อเตรียมตัวทุกคนก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีนี้

เมนู HOME
.
เมื่อเปิดแอปฯขึ้นมาข้อมูลแรกที่ปรากฏบนแผนที่นอกเหนือจากตำแหน่งของเราที่แสดงเป็นจุดสีฟ้าก็คือ ตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำ หรือที่เรียกว่า “สถานีระดับน้ำในลำน้ำ” ที่ติดตั้งตามริมแม่น้ำกระจายทั่วประเทศ แสดงเป็น 3 สีแบ่งตามสถานะระดับน้ำ ได้แก่ “สีเขียว” คือระดับน้ำปกติ “สีเหลือง” คือระดับน้ำสูงหรือแจ้งเตือน และ “สีแดง” น้ำล้นตลิ่งหรืออันตราย ทั้งนี้เมื่อเราแตะเหนือตำแหน่งเหล่านี้ จะมีป๊อปอัพแสดงเปอร์เซ็นต์ของระดับน้ำตามด้วยชื่อสถานีตรวจวัดระดับน้ำแต่ละสถานี เช่น 95.83% องครักษ์ เป็นต้น 
.
ข้อมูลตำแหน่งและระดับน้ำในแม่น้ำจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่ปรากฏในแอปฯเช็คน้ำนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากหลากหลายหน่วยงานที่มีส่วนช่วยกันสร้างและบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดฯเหล่านี้ เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) โดยข้อมูลระดับน้ำในแม่น้ำจากแต่ละสถานีจะถูกส่งมาที่ฐานข้อมูลของแอปฯเช็คน้ำทุกๆ 10 นาที ดังนั้นข้อมูลระดับน้ำในแอปฯเช็คน้ำจะมีการอัพเดททุกๆ 10 นาทีเช่นกัน และระบบยังคำนวณหาอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำของแต่ละสถานี จากข้อมูลระดับน้ำต่างช่วงเวลากันของแต่ละสถานีได้อีกด้วย
.
ข้อมูลอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำถูกนำมาใช้ในการแบ่งประเภทของความอันตรายของระดับน้ำในแต่ละสถานี โดยจะทำการเปลี่ยนสถานะจากระดับปกติหรือสีเขียวเป็นระดับแจ้งเตือนหรือสามเหลี่ยมสีเหลือง ในกรณีที่ค่าต่างๆบ่งชี้ว่าน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะล้นตลิ่งภายใน 4 ชั่วโมงข้างหน้า เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม แต่ทว่าความเป็นจริงบางครั้งน้ำอาจจะไม่ท่วมจริง ทั้งนี้เนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยในโลกภายนอกที่นอกเหนือการควบคุมและไม่สามารถแปลงค่าเข้าสู่โมเดลการวิเคราะห์ของแอปฯเช็คน้ำได้ 

เมนู “น้ำท่วม” 
.
เมนูน้ำท่วม เป็นเมนูแรกสุดทางด้านซ้ายมือบนแถบเมนูที่อยู่ด้านล่างจน แน่นอนว่าก็จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่น้ำท่วม ณ เวลาใกล้เคียงปัจจุบัน แสดงเป็นพื้นที่สีฟ้า สกัดมาจากข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-1 โดยการวิเคราะห์ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีรอบในการอัพเดทข้อมูลประมาณ 5 วันตามลักษณะวงโคจรของดาวเทียม นอกจากนั้นยังมีการซ้อนทับด้วยข้อมูลตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำพร้อมสถานะของระดับน้ำแสดงเป็น 3 สีเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีชั้นข้อมูลสภาพจราจรบนถนนสายหลักๆทั่วทั้งประเทศ เพื่อไว้สำหรับเป็นข้อมูลให้คนขับรถไว้ตรวจสอบ หากถนนบางจุดมีน้ำท่วมถนนขังจนไม่สามารถผ่านไปได้ก็จะปรากฏเป็นแถบสีแดง นับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนเดินทางกันล่วงหน้าในช่วงหน้าฝนนี้ 
.
เมนู “กลุ่มฝน”
.
เมนู “กลุ่มฝน” ให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเมฆฝน ณ เวลาใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลจากดาวเทียม Global Satellite Mapping of Precipitation (GSMaP) ดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่น โดยมีรอบอัพเดทประมาณทุกๆ 30 - 45 นาที พร้อมการนำเสนอด้วยเฉดสีที่หลากหลาย แบ่งตามปริมาณฝนที่ตกในหน่วยมิลลิเมตรต่อชั่วโมง แสดงควบคู่กับข้อมูลตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำพร้อมสถานะของระดับน้ำแสดงเป็น 3 สี ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าระวังเหตุการน้ำท่วมฉับพลัน 
.
ยกตัวอย่างเช่น หากในพื้นที่เพิ่งจะมีฝนตกหนักผ่านพ้นไป ซึ่งโซนที่ฝนตกหนักถึงหนักมากจะปรากฏเป็นโซนสีแดงหรือส้มของข้อมูลกลุ่มเมฆฝน จากนั้นไม่นานปรากฏการแจ้งเตือนระดับน้ำคือสีเหลืองหรือสีแดง (กระพริบ) ขึ้นมา นั่นอาจจะเป็นผลมาจากปริมาณน้ำที่ไหลตามผิวดินจำนวนมหาศาลเริ่มมีการไหลมารวมตัวกันในที่ลุ่มและสู่แม่น้ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของการเกิดน้ำท่วมฉับพลันก็เป็นได้  
.
เมนู “คาดการณ์” 
.
ในเมนูคาดการณ์ การแสดงผลทุกอย่างแทบจะเหมือนกับเมนู HOME คือมีข้อมูลตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำพร้อมสถานะของระดับน้ำแสดงเป็น 3 สีปรากฏให้เห็นเด่นชัด แต่ถ้าหากลองซูมไปที่บริเวณตำแหน่งของสถานีวัดระดับน้ำที่อยู่ในสถานะแจ้งเตือน (สามเหลี่ยมสีเหลือง) หรือสถานะอันตราย (จุดสีแดงกระพริบ) จะปรากฏพื้นที่สีแดงส้มอยู่รอบๆตัวตำแหน่งสถานีฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งขึ้นมา และถ้าตำแหน่งของเราตกไปอยู่ในพื้นที่สีแดงเหล่านี้ ก็ให้เตรียมตัวรับมือได้ทันที 
.
ข้อมูลพื้นที่คาดการณ์ที่จะได้รับได้ผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งนี้ ระบบได้วิเคราะห์จากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมย้อนหลังและข้อมูลน้ำล้นตลิ่งย้อนหลัง 10 ปี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความสูงของน้ำจากตลิ่งและพื้นที่น้ำท่วมที่ไหลบ่าออกไปจากแนวแม่น้ำ จากนั้นจึงนำมาเป็นเปรียบเทียบใช้กับข้อมูลระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำในปัจจุบัน ก็จะได้พื้นที่คาดการณ์ที่น้ำจะไหลไปท่วมหากเกิดล้นตลิ่ง ณ ความสูงของน้ำในปัจจุบันนั่นเอง 
.
เมนู “ปี  2554” 
.
สุดท้ายเมนู ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่หลายคนจำได้ไม่มีวันลืมถึงวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศ และข้อมูลที่แสดงในเมนูนี้นอกเหนือจากตำแหน่งของสถานีวัดระดับน้ำก็คือ พื้นที่น้ำท่วมสะสมตลอดทั้งปี 2554 ตั้งแต่มกราคมจนถึงธันวาคมครอบคลุมทั้งประเทศ แสดงเป็นพื้นที่สีฟ้าขนาดใหญ่บนแผนที่ เพื่อไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงในกรณีที่น้ำมีปริมาณมากหรือมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2554 เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือคอยเฝ้าระวังได้รู้ทันล่วงหน้าถึงทิศทางของน้ำที่จะไหลไปสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนในทิศทางไหนบ้าง  
.
แอปลิเคชั่นเช็คน้ำเปิดให้ดาว์นโหลดและใช้งานได้แล้วมาสักระยะ แต่ทางทีมพัฒนาจาก GISTDA ก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาทั้งระบบหลังบ้านและหน้าบ้านกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและสรรหาแหล่งข้อมูลจากดาวเทียมที่ใกล้เคียงกับเวลาจริงให้มากที่สุด  การใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเพื่อคาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำ และการทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่น้ำท่วมในเขตเมือง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงทุกคนเข้ากับคุณค่าของข้อมูลจากอวกาศเพื่อการรับมือกับปัญหาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนชาวไทย

amorn.pet 18/9/2566 0
Share :