Head GISDTDA

การเดินทางของ THEOS -2 สู่ห้วงอวกาศ

ประเทศไทยจะส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี! หลังส่งไทยโชตเมื่อปี 2551

.

ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดสูงมาก ผลิตโดยบริษัท Airbus Defense ภารกิจคือการเก็บข้อมูลโดยการถ่ายภาพพื้นผิวโลกของเราเสริมส่งกับดาวเทียมไทยโชตหรือ THEOS-1 ที่ส่งขึ้นไปเมื่อปีพ.ศ. 2551 โดย THEOS-2 นับเป็นอีกหนึ่งดาวเทียมสำรวจของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ประเทศในอนาคต นับว่าเป็นดาวเทียมของประเทศไทยดวงที่ 7 ที่ทำการปล่อยโดย Arianespace ซึ่งเป็นบริษัทรับบริการปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรทุกรูปแบบ

.

จรวดของ Arianespace ที่จะนำ THEOS-2 สู่วงโคจรในอวกาศ ขึ้นโคจรมีชื่อว่า Vega โดยใช้ระบบ Rideshare คือการส่งขึ้นไปพร้อมกันกับภารกิจอื่นอีก 12 ภารกิจ น้ำหนักเพย์โหลดรวมทั้งหมด 1241.7 กิโลกรัม และจะนำพาขึ้นไปยัง วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit : SSO) ในวงโคจรประเภทนี้ ดาวเทียมจะสามารถโคจรผ่านขั้วโลก ณ ตำแหน่งเดิมเสมอเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ นั่นทำให้ดาวเทียมสามารถโคจรผ่านตำแหน่งเดิมที่เวลาท้องถิ่นเดิมตลอด เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องทำการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

.

แต่ทว่า ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. หลังจากการนับถอยหลังของการปล่อยจรวดไปแล้วนั้น จะเกิดอะไรขึ้นบ้างใน Flight Sequence หรือลำดับการบิน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้วางแผนลำดับการปฏิบัติการณ์ นับตั้งแต่ออกบิน ไปจนถึงลำดับของการปลดปล่อยดาวเทียมแต่ละดวงออกไป

.

เริ่มจากวินาทีเริ่มต้น T0 - Liftoff ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นหลังจากการนับถอยหลังถึงศูนย์ เครื่องยนต์จะทำงานเพื่อผลักดันจรวดให้พุ่งขึ้นไป ขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างมากในการเริ่มเอาชนะแรงโน้มถ่วงโลกเพื่อพุ่งทะยานออกจากพื้นโลกให้ได้

.

ต่อจากนั้น หลังการทะยานขึ้นไปแล้ว จะมีขั้นตอนการลดมวลเพื่อสร้างความเร่งสูงสุด เนื่องจากจรวด Vega เป็นจรวดหลายท่อน ที่เราเห็นว่าจรวดมีทรงสูงๆนั้น ส่วนแท้จริงที่จะได้พุ่งขึ้นไปยังอวกาศคือส่วนบนสุดของจรวดหรือส่วนที่บรรจุดาวเทียม THEOS-2 เท่านั้น ส่วนท่อนล่างที่แบ่งหลายท่อนก็จะถูกปล่อยทิ้งระหว่างการเดินทาง โดยเมื่อเชื้อเพลิงท่อนไหนหมดไปก่อนก็จะถูกปลดออกจากตัวจรวดก่อน ทั้งนี้จะไล่จากท่อนล่างสุดขึ้นสู่ท่อนบนที่อยู่ถัดไปตามลำดับ

.

แรงจากการปล่อยจะช่วยผลักดันให้จรวดส่วนที่เหลือพุ่งขึ้นไปได้เร็วขึ้นตามกฏของนิวตัน และยังลดมวลจรวดทำให้ได้รับผลจากแรงโน้มถ่วงโลกลดน้อยลงด้วย เป้าหมายหลักของขั้นตอนต่อไปนี้ก็คือการเร่งความเร็วให้มากที่สุดเพื่อให้ถึงจุดที่ความเร็วหลุดพ้นในการออกไปสู่การโคจรรอบโลก ซึ่งจะแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อยๆตามเวลาหลังจาก T0 ดังนี้

.

ประมาณ 1 นาที 55 วินาที หลังจากจรวดได้ออกตัวจากฐานปล่อยแล้ว การแยกตัวขั้นแรกจะเกิดขึ้น โดยระบบจะทำการปลดจรวดท่อน P80 solid propellant motor หรือตัวขับเคลื่อนแรกของจรวดที่มีเชื้อเพลิงแข็งทิ้งไป

.

จากนั้นอีกประมาณ 3 นาที 39 วินาทีต่อมา การแยกตัวขั้นที่สอง ปลดจรวดท่อน Zefiro-23 เชื้อเพลิงแข็งท่อนถัดมา

.

จากนั้นอีกประมาณ 3 นาที 57 วินาที ระบบจะทำการปลดเปลือกท่อนบนสุดของจรวดออก เปิดให้เพย์โหลดทั้งหลายรวมทั้งดาวเทียม THEOS-2 เพื่อเตรียมพร้อมปลดปล่อยสู่อวกาศ

.

ต่อมาอีกประมาณ 6 นาที 30 วินาที การแยกตัวขั้นสุดท้าย ท่อนจรวดที่สามชื่อ Zefiro-9 ถูกปลดออก ในตอนนี้จรวดจากที่เป็นทรงสูงๆจะเหลือเพียงท่อนสั้นท่อนเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือส่วนเพย์โหลดที่บรรจุดาวเทียม THEOS-2 ได้ขึ้นสู่อวกาศเป็นที่เรียบร้อย

.

หลังจากได้ปล่อยมวลหนักๆของเชื้อเพลิงทิ้งไปหมด ทำให้หลุดพ้นแรงโน้มถ่วงของโลกแล้วก็จริง แต่ก็ยังคงอยู่ในวงโคจรโลกอยู่ ถ้าปล่อยไว้เฉยๆจะมีการลดระดับเพราะยังมีอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลกอยู่แม้ไม่แรงมาเท่าบนพื้นโลกก็ตาม ฉะนั้นจึงยังต้องมีการเร่งความเร็วเพิ่ม เพื่อนำส่งดาวเทียมทั้งหลายไปยังระดับวงโคจรที่ต้องการ และการเร่งความเร็วนั้นทำโดย AVUM หรือ Altitude & Vernier Upper Module เป็นตัวขับเคลื่อนเชื้อเพลิงเหลว ที่สามารถเร่งเครื่องได้ถึง 5 ครั้ง การเร่งเครื่องจะทำสลับกับการปล่อยดาวเทียมแต่ละชุด

.

ดาวเทียม THEOS-2 จะถูกปล่อยเป็นชุดแรกหลังเร่งเครื่องไปได้ 2 ครั้ง โดยจะมีดาวเทียม FORMOSAT-7R/TRITON ของไต้หวัน ซึ่งจะถูกปล่อยออกไปพร้อมกัน ณ นาทีที่ 54 นาที 22 วินาที หลังจากถูกส่งออกจากฐานปล่อยจรวด และในที่สุด ดาวเทียม THEOS-2 อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยก็จะโคจรในห้วงอวกาศอย่างสมบูรณ์แบบและพร้อมปฏิบัติภารกิจที่ได้วางแผนไว้ในอนาคตอีกหลายปี เพื่อนำคุณค่าจากอวกาศสู่สังคมไทยต่อไป

Nattakarn Sirirat 7/10/2566 0
Share :