Head GISDTDA

ไทย ร่วมกับ 60 หน่วยงานด้านอวกาศ ร่วมจัดสัมมนา พร้อมเดินหน้าชูเทคโนโลยีอวกาศลดการปล่อยคาร์บอน

ไทย ร่วมกับ 60 หน่วยงานด้านอวกาศ ร่วมจัดสัมมนา พร้อมเดินหน้าชูเทคโนโลยีอวกาศลดการปล่อยคาร์บอน

.

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ประเทศไทย โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธาน CEOS 2023 หรือ คณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (Committee on Earth Observation Satellite , CEOS) ซึ่งมีหน่วยงานด้านอวกาศภาครัฐและองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกกว่า 60 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม โดยภายใต้งานดังกล่าวได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง “Satellite Earth Observation & Carbon Accounting” หรือ การใช้ข้อมูลดาวเทียมสำรวจโลกในการติดตามและประเมินคาร์บอน ณ เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวเปิดงานสัมมนา และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ให้การต้อนรับ

.

นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั่วโลกได้ตระหนักต่อการปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยพิบัติต่างๆในปัจจุบัน ดังนั้น นานาประเทศจึงมีเป้าหมายเดียวกัน คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจังหวัดเชียงรายเองได้มีแผนงานที่สอดคล้องต่อนโยบายดังกล่าว คือ โครงการเชียงรายเมืองสีเขียวที่ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างรายได้ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาวันนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย การจัดงานของ GISTDA ในครั้งนี้ ทำให้จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำเทคนิคและวิธีการใหม่ๆไปประยุกต์ใช้กับภารกิจของหน่วยงานต่อไป

.

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธาน CEOS ในปี 2023 นั้นจะเป็นโอกาสที่เราจะสร้างการรับรู้ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติในด้านการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจโลก วันนี้ GISTDA ในฐานะตัวแทนประเทศไทยและเป็นประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก 2023 จึงจัดสัมมนาใหญ่เรื่อง “Satellite Earth Observation & Carbon Accounting” โดยเชิญหน่วยงานด้านอวกาศจากทั่วโลกซึ่งเป็นสมาชิกของ CEOS เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาทิ National Aeronautics and Space Administration (NASA) Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) European Space Agency (ESA) และ National Oceanic and Atmospheric Administration เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงการตรวจวัดคาร์บอนด้วยดาวเทียมให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และเทคนิควิธีการตรวจวัดคาร์บอนด้วยดาวเทียม ซึ่งการประเมินคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใส ตามมาตรฐานสากล จะนำไปสู่การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอวกาศต่างประเทศและกลุ่มผู้ใช้งานข้อมูลสำรวจโลกสำหรับการตรวจวัดคาร์บอนเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ แก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อน ภายในงานมีการนำเสนอวัฎจักรคาร์บอนและการประยุกต์ใช้โดยผู้แทนจาก NASA การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก โดย JAXA และแนวทางของสหรัฐอเมริกาในการประมาณปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดย NOAA ดาวเทียมสำรวจโลกกับตลาดคาร์บอน และเทคโนโลยีอวกาศในการสำรวจและประเมินการปล่อยและการดูดกลับคาร์บอน

​ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า การกำหนดมูลค่าทางการเงินให้กับคาร์บอนเป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลาดคาร์บอนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งใช้สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก และเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจหรือขายคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้เพื่อให้มีวิธีในการปฏิบัติตามโดยมีมาตรการกำกับดูแลที่จะบังคับใช้ ซึ่งการสร้างคาร์บอนเครดิตสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่า การดำเนินการทางการเกษตรด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อ การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอนโดยตรง การจัดการพืชพรรณ มาตรการต่างๆในการกำหนดประสิทธิภาพของพลังงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจสอบทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของตลาดคาร์บอนจะทำให้การซื้อขายมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากการสัมมนาครั้งนี้แล้วทุกหน่วยงานด้านอวกาศจะร่วมกันส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถเกี่ยวกับการใช้ดาวเทียมสำรวจโลกทั้งด้านการตรวจสอบปริมาณคาร์บอนสะสมของป่าไม้ การติดตามและการวัดการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณที่ปกคลุม หรือการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและยังช่วยสนับสนุนพร้อมขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภายในประเทศต่อไป

Nattakarn Sirirat 14/11/2566 500 0
Share :