Head GISDTDA

GISTDA ลงพื้นที่ทุ่งกุลา เก็บข้อมูลกลุ่มทำนาอินทรีย์ กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนวิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวอินทรีย์ และนำนวัตกรรมภูมิสารสนเทศระบบ G-Rice Thungkula สนับสนุนการจัดการข้าวเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาอย่างยั่งยืน

   ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 11 พฤษภาคม 2561 GISTDA ลงพื้นที่ทุ่งกุลา 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม เก็บข้อมูลกลุ่มทำนาอินทรีย์ กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวอินทรีย์ และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นใช้เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสำหรับ “ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการข้าวโดยชุมชน พื้นที่ทุ่งกุลาหรือ G-Rice Thungkula” ซึ่งเป็นนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ ในการจัดการข้าวเชิงพื้นที่ ที่พัฒนาขึ้นภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ 5 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2560 - 2564เพื่อให้ชุมชน วิสาหกิจ ในพื้นที่ทุ่งกุลาได้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่การจัดการทะเบียนข้อมูลกลุ่มสมาชิก แปลงเพาะปลูก ข้อมูลการเพาะปลูก กิจกรรมการเพาะปลูก ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ข้าว ในรูปแบบการจัดการด้วยตนเองผ่านระบบจัดการเชิงพื้นที่ (Area Based) เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข็มแข็งให้กับชุมชน เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เริ่มต้นที่

   จังหวัดยโสธร ประชุมกับร่วมสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร โดยเกษตรจังหวัดยโสธรได้มีความต้องการจะนำนวัตกรรมภูมิสารสนเทศนี้ไปพัฒนาต่อยอด เพื่อใช้ในการจัดการพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดครอบคลุมพื้นที่กว่า 110,000 ไร่ และจัดเก็บข้อมูลกลุ่มทำนาอินทรีย์บากเรือ บ้านดอนผึ้ง ตำบลบากเรือ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม บ้านศิริพัฒนา ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่สำคัญของจังหวัดและประเทศ ที่ส่งข้าวอินทรีย์ขายไปทั่วประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์จากหลายสถาบัน มีสมาชิกรวมกันมากกว่า 1,000 คน

   จังหวัดศรีสะเกษ ประชุมร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โดยเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีความต้องการจะนำนวัตกรรมภูมิสารสนเทศนี้ไปพัฒนาต่อยอด เพื่อใช้ในการจัดการพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดศรีสะเกษนอกจากนี้ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยาง ตำบลหนองแค อำเภอราศีไศล และวิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวอินทรีย์บ้านอุ่มแสง (ลุงบุญมี) ตำบลดู่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งกลุ่มบ้านอุ่มแสง (ลุงบุญมี) เป็นกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่สำคัญของจังหวัดและของประเทศ สามารถส่งข้าวอินทรีย์ขายไปทั่วประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์จากหลายสถาบันปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 1,200 คนมีแปลงเพาะปลูกข้าว มากกว่า 3,000 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่

   จังหวัดสุรินทร์ จัดเก็บข้อมูลกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้บ้านจันทร์หอม ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านบ่อแก ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์และสหกรณ์การเกษตรชุมพลบุรี ที่มีสมาชิกจำนวนกว่า 4,200 คน

   จังหวัดร้อยเอ็ด จัดเก็บข้อมูลเครือข่ายเกษตรยั่งยืน และ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านสำราญตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์วิถีไทย ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเพื่อสุขภาพทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านคุ้มกลาง ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย กลุ่มทำนาอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย (ลุงช่วย สาสุข) บ้านโพนละมัง ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกรวมกันทั้งหมด มากกว่า 1000 คน และสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า9,000 คน

   จังหวัดมหาสารคาม จัดเก็บข้อมูลวิสาหกิจชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่ทุ่งกุลาที่สำคัญของจังหวัด มีจำนวนสมาชิก 60 คน

   ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ทุ่งกุลาในครั้งนี้ จะนำมาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลแปลงเพาะปลูกข้าวในทุ่งกุลาที่มีจำนวนประมาณ 300,000 แปลง เพื่อให้กลุ่มต่างๆ เครือข่ายวิสาหกิจ ฯลฯ สามารถการจัดการทะเบียนข้อมูลกลุ่มสมาชิก แปลงเพาะปลูก ข้อมูลการเพาะปลูก กิจกรรมการเพาะปลูก ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ข้าว ด้วยตนเองผ่านระบบจัดการเชิงพื้นที่ (Area Based)รวมทั้งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ผ่านเทคโนโลยี QR Code ที่จะนำไปติดบนผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อสร้างมั่นใจให้ผู้บริโภค ที่สามารถตรวจสอบแปลงเพาะปลูกและแหล่งผลิตได้ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา นำมาซึ่งรายได้และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลา

Admin 11/5/2561 0
Share :