โลกของเราคือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้น แต่ทว่าในปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งเร่งเร้าให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ไม่คาดคิดและรวดเร็วมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะของมนุษยชาติ ถ้าอย่างนี้แล้วความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มนุษย์สั่งสมและพัฒนามานั้น จะสามารถทำให้เราบรรเทาความเสียหายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ได้อย่างไร
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิกาศของโลก หรือ Climate Change นำมาสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมายและส่งผลกระทบถึงมนุษย์ทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม มาตราการรณรงค์ต่างๆที่ถูกหยิบยกใช้เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อนมาแล้วหลายปีจากทั่วทุกมุมโลก
แต่ตอนนี้โดยรวมโลกของเรานั้นร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสจากช่วงปี 1850 – 1900 และส่งผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งหรือเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มคนหนึ่งเท่านั้น
แต่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาและความเข้าใจองค์รวมอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ระบบโลกไปจนถึงอวกาศ (Earth Space System : ESS) ที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน บูรณาการเข้ากับวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาช่วยการบริหารจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ อาทิ Biogeochemistry Cycle, Geo-hazard Prediction, Oceanography & Polar Science, Atmospheric Science
สำหรับในภาคส่วนอวกาศซึ่งนับว่าส่วนที่ส่งอิทธิพลต่อโลกโดยตรงและเป็นพื้นที่ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เดิมทำให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโลกและอวกาศได้มากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องเร่งให้มีการศึกษาควบคู่กับไป ซึ่งประกอบด้วย Experiment in Space, Impacts from Space และ Space & Universe Exploration
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่รองรับการพัฒนาในอนาคตที่เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยชั้นแนวหน้าตั้งแต่ระบบโลกไปจนถึงอวกาศ ไม่เพียงเพื่อการรับมือกับปัญหาเท่านั้นหากแต่การศึกษาด้าน ESS นี้จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในหลายด้าน เพิ่มโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆทัดเทียมกับนานาประเทศ อีกทั้งสามารถต่อยอดสู่ภาคธุรกิจส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมอวกาศได้อีกด้วย
ในโอกาสนี้จิสด้าได้ร่วมกับประชาคมวิจัยด้านระบบโลกและอวกาศของประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการและการสัมมนานานาชาติการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศแห่งประเทศไทย (The 1st International Symposium on Earth Space System Frontier Research Thailand 2021) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 โดยสามารถรับชมผ่านทางออนไลน์ทาง Facebook : TNN ช่อง16 และ GISTDA ตั้งแต่เวลา 8:30 น. เป็นต้นไป
ภายในการประชุมพบกับปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของ อว. ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจไทย” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ มาร่วมอัพเดทการเตรียมการเพื่อรองรับ Earth Space System Frontier Research ของประเทศไทย
เพราะอวกาศเป็นพื้นที่แห่งโอกาส การจะใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมในทุกๆด้านไปพร้อมๆกันทั้งบุคลากร องค์ความรู้ เครื่องมือ แผนงาน รวมไปถึงแนวความคิด เพื่อเกิดศักยภาพสูงสุดในการนำคุณค่าจากอวกาศพัฒนาสังคมไทย
อ้างอิง สมุดปกขาว Earth Space System Frontier Research การวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ โดยประชาคมวิจัยด้านระบบโลกและอวกาศ