Head GISDTDA

ยิ่งถี่..เรายิ่งรู้จัก PM 2.5

 

ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่าปัญหามลพิษ PM 2.5 กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว วัดได้จากความถี่ที่เราเห็นจากการแจ้งเตือนและข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายปีแบบนี้ เนื่องด้วยสภาพอากาศที่เอื้อต่อการสะสมของปริมาณฝุ่นละอองในอากาศนั่นเอง ทว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ในสังคมไทย แต่ในปัจจุบันมีสิ่งหนึ่งที่จะมาช่วยเสริมให้เราตระหนักรู้ถึงภัยจากปัญหานี้กันมากขึ้น นั่นก็คือ “การพัฒนาของอุปกรณ์ตรวจวัด”
.
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 คือภัยที่มองไม่เห็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกพบว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้คนที่อาศัยในเขตเมืองและชนบทเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึง 4.2 ล้านคนทั่วโลกในปี 2559 นับว่าเป็นมลพิษที่สร้างความเสียหายสูงสุดเมื่อเทียบกับมลพิษประเภทอื่นๆ
.
ที่ผ่านมาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามและตรวจสอบสภาพปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าภาพรวมของพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2556 - 2563 ปริมาณฝุ่นละอองจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนมีนาคม
.
แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ยังขาดอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองและบางพื้นที่ไม่สามารถนำหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ไปตรวจวัดได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ดังนั้นการตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยข้อมูลจากดาวเทียมจึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้ได้ข้อมูลสภาพอากาศเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
.
ดาวเทียม Terra และดาวเทียม Aqua ของ NASA ได้ถูกออกแบบให้ทำงานสอดประสานกัน แต่ละดวงจะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 2 รอบสลับกัน รวมทั้งหมดก็ 4 รอบต่อ 24 ชั่วโมง และทั้งสองดวงยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่คล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นก็คือ ระบบ MODIS ที่มีแนวถ่ายภาพที่กว้างครอบคลุมทั่วประเทศไทยในการถ่ายเพียงครั้งเดียว โดยรวมแล้วข้อมูลจากระบบ MODIS เป็นผลดีต่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงมลพิษทางอากาศในรอบวัน
.
แต่หากพิจารณาถึงธรรมชาติของฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ มันมักจะปรับเปลี่ยนความเข้มข้นไปตามปัจจัยของกระแสลม สภาพแวดล้อมหรือแม้กระทั่งกิจกรรมของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ดังนั้นการเพิ่มรอบความถี่การตรวจสอบมลพิษทางอากาศในหนึ่งวันด้วยข้อมูลจากดาวเทียม จะทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอต่อการรับมือได้ทันการณ์หรือแจ้งเตือนไปยังผู้คนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้ในระหว่างวัน
.
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ดาวเทียม Himawari-8 ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าหรือเป็นดาวเทียมโคจรในตำแหน่งที่ตรงกับภูมิภาคนี้ตลอดเวลา ทำให้สามารถได้จำนวนรอบในการถ่ายภาพโลกต่อวันเพิ่มขึ้น
.
อีกทั้ง อ้างอิงจากงานศึกษาวิจัยพบว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่วัดจากเซนเซอร์บนพื้นโลกมีความสัมพันธ์กับค่าที่ปรากฏบนข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Himawari-8 รายชั่วโมง นั่นหมายความว่าอนาคตอีกไม่นาน เราจะมีข้อมูลระดับความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นรายชั่วโมง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อันจะนำมาสู่การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงอย่างสมเหตุสมผล
.
ปัญหามลพิษทางอากาศมีทั้งความซับซ้อนและอ่อนไหว เนื่องจากอากาศเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องใช้หายใจ และต้นตอของปัญหาเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยที่ต้องอาศัยเวลาเพื่อการแก้ไข ทว่าในเมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีเพียงความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมเท่านั้น ที่จะทำให้เราป้องกันตัวเราเองจากอันตรายเหล่านั้นได้ และนี่คือหนึ่งในคุณค่าจากเทคโนโลยีอวกาศที่ช่วยพัฒนาสังคมของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #จิสด้า #GISTDA
#Spacetechnology
#หมอกหรือควัน #ฝุ่นpm #มลพิษทางอากาศ #คุณภาพอากาศ #ค่าฝุ่นละออง

Admin 30/11/2563 796 0
Share :