Head GISDTDA

เสียงจากชุมชน

          เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสขึ้นเหนือตามติดกิจกรรม GISTDA สัญจร ที่พาลูกค้าหลักๆ ของ GISTDA และสื่อมวลชน ติดตามงานโครงการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย งานนี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าและสื่อมวลชนไม่น้อยเลย แต่ที่ประทับใจสุดๆ คือผู้นำชุมชนให้ความสำคัญและสนใจกับข้อมูลภูมิสารสนเทศมากๆ เลยพลาดไม่ได้ที่จะนำข้อความจากหนุ่มหล่อสาวสวยซึ่งเป็นผู้นำชุมชนจากดอนศิลามาให้ชาว GISTDA ได้รับรู้และรับทราบความรู้สึกของพวกเค้ากันนะครับ
เริ่มจากพี่วิรัตน์ พรหมสอน ผู้แทนชุมชนบ้านสมานมิตร 1 ในตำบลดอนศิลา กล่าวว่า “จุดอ่อนของชุมชนที่ยังไม่รู้จักข้อมูลภูมิสารสนเทศ จะทำให้คนในชุมชนไม่รู้ว่าเรายืนอยู่ตรงไหน บนพื้นที่ของใคร และจะไปอย่างไรต่อก็คิดไม่ออก มืดแปดด้าน แต่พอมีแผนที่และข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือ ทำให้คนในชุมชนรู้ว่าเราอยู่ในเขตพื้นที่ของใคร เป็นของเราเองหรือเปล่า มีขนาดเท่าไหร่ มีพื้นที่ป่าเท่าไหร่ และมีแหล่งน้ำที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคเท่าไหร่ ซึ่งส่งผลให้ทั้งชุมชนต้อง          เริ่มจัดกระบวนความคิดและวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย”
พี่วิรัตน์ยังกล่าวอีกว่า “การจัดการทรัพยากรของพวกเราในชุมชน ถือเป็นการจัดการกับความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งมีปมการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่สูงมาก โดยเฉพาะเขตภาคเหนือทั้งหมดที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเดียวกันทั้งสิ้น แต่พอเราเริ่มรู้จักและใช้ประโยชน์จากแผนที่และข้อมูลภูมิสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรารู้ว่าแผนที่ที่เราเคยทำมือมาแต่เดิมนั้น ยังไม่มีรายละเอียดและความชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้ที่ผ่านมาชุมชนเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ และเมื่อมีปัญหาเราไม่รู้จะต้องติดต่อหรือประสานงานกับใครหรือหน่วยงานไหน เพื่อให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ”
          สำหรับ พี่วิไล นาไพวรรณ์ หรือพี่แต๋ว รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา กล่าวว่า “ที่ผ่านมาชุมชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐได้ หรือว่าทำข้อมูลไม่ได้มาตรฐานเดียวกันกับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ข้อมูลของพวกเรายังไม่ดีพอ ดังนั้น ถ้าชุมชนสามารถพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ โดยนำภูมิสารสนเทศเข้ามาบูรณาการด้วยกัน จะทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลในการพัฒนาชุมชนได้แบบเดียวกันทั้งหมด สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจมากขึ้น รวมถึง ยังช่วยให้ชุมชนได้พัฒนาเรื่องของคนในชุมชนในการจัดทำข้อมูลของตัวเองที่มาจากข้อเท็จจริง จริงๆ โดยข้อมูลที่ทำขึ้นมานั้นผ่านกระบวนการและการมีส่วนร่วมจากหลายๆฝ่ายที่มาร่วมทำ เช่น สภาองค์กรชุมชน ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน ข้อมูลจากท้องที่ท้องถิ่นที่เป็นฐานข้อมูลแผนที่เดิม ข้อมูลจากครัวเรือน  รวมถึงการสร้างความเข้าใจของชุมชนด้วยกันอีกด้วย”

Admin 31/5/2559 869 0
Share :