Head GISDTDA

จิสด้าร่วมหารือ จ.น่าน เตรียมใช้แพลตฟอร์มเชิงนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนและฟื้นฟูสภาพป่า

   เมื่อวันที่18-20 เม.ย. 2561 : ณ โรงแรมน่าน กรีน เลค วิว รีสอร์ท จิสด้า นำโดย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.จิสด้า รองผู้อำนวยการจิสด้า สุภาพิศ ผลงาม ที่ปรึกษาเชาวลิต ศิลปทอง ทีมงาน AIP ทีมกระบวนการด้านเทคนิคเพื่อวางแผน ออกแบบ รวบรวมฐานข้อมูลกลางทรัพยากรที่ดิน-ป่าไม้ และทีมกระบวนการมีส่วนร่วมชุมชน (ภูมิสังคม) จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็น (Focus Group) : แพลตฟอร์มเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและฟื้นฟูสภาพป่า จ.น่าน โดยมีผู้แทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หน่วยราชการ ท้องที่-ท้องถิ่น ภาคเอกชน สื่อสารมวลชน ของ จ.น่าน โดยภาพรวมของทุกกลุ่มที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วนนั้น ให้ความสนใจแนวทางการพัฒนาในมิติต่างๆ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับพื้นที่บริบท จ.น่าน ซึ่งในประเด็นการเชื่อมโยงระบบข้อมูล แผนงาน/โครงการต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ในพื้นที่ จ.น่าน ว่ามีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร งบประมาณเท่าไหร่ เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่หรือไม่ รวมถึงการติดตามตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรมนั้น ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมใน จ.น่าน หาก จิสด้า มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน เป็นหน่วยงานกลาง เป็นที่ปรึกษา คาดว่าภาคประชาชน กลุ่ม เครือข่าย องค์กรต่างๆ ใน จ.น่าน ไม่น่าจะมีปัญหา ขอเพียงแต่ทุกภาคส่วนให้ความจริงใจ เปิดใจ วางอคติ และนำข้อมูล ข้อเท็จจริง มาเติมมาเพิ่มในระบบฯ ที่จิสด้าจะพัฒนานั้น โอกาสที่ จ.น่าน จะมีฐานข้อมูลชุดเดียวกัน ในการใช้งาน วางแผน และตัดสินใจระดับพื้นที่จะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

   สำหรับการดำเนินงานพัฒนาแพลตฟอร์มเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและฟื้นฟูสภาพป่า จ.น่าน นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะนโยบายที่ดี ต้องนำไปปฏิบัติได้จริงในระดับพื้นที่ และต้องเกิดความยั่งยืน รวมไปถึงความพึงพอใจของทุกภาคส่วนด้วย ซึ่งไม่ได้ง่าย และจิสด้าไม่สามารถยืนยันว่าผลสัมฤทธิ์ ผลลัพธ์ ที่ได้จะถูกใจทุกคน หรือจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยระดับใด แต่รูปแบบดังกล่าว จะเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายที่ไม่สอดคล้องหรือสมดุลในแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งกรณี จ.น่าน เป็นจังหวะก้าวที่ดีมากๆ ที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 48/2561  เรื่องการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน โดยยกข้อจำกัดทางกฏหมาย ระเบียบ ที่คาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ออกไปก่อน เป็นส่วนที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีภาคเอกชน ที่มาช่วยคิด ช่วยดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่มีความยั่งยืน ระบบผลิตภาคการเกษตรที่ทำในพื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมากและเหมาะสมกับศักยภาพเชิงพื้นที่ มีกลไกการตลาดมารองรับ และที่สำคัญคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ของ จ.น่าน จะกลับฟื้นคืนมา โดยทุกคน ทุกภาคส่วนใน จ.น่าน ช่วยคิด ช่วยทำ แบ่งปัน และมีระบบฐานข้อมูลแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ในมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสุขภาพ ด้านทรัพยากร ด้านเทคโนโลยี บนฐานเดียวกัน มีระบบติดตามตรวจสอบที่โปร่งใส สมดุล และเป็นธรรม ต่อทุกคน และเชื่อมโยงไปยังระดับนโยบายที่มุ่งหวังให้เป็น “นวัตกรรมดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อรังสรรค์นโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป้าหมายเร่งด่วนในระยะสั้น 3-6 เดือนต่อจากนี้ เพื่อขึ้นรูปแพลตฟอร์มต้นแบบ ให้สามารถใช้งานได้ในเบื้องต้นและเป็นรูปธรรมต่อการนำเสนอ สร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ร่วมให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น แบ่งปัน และใช้ประโยชน์ร่วมกันบนแพลตฟอร์มเชิงนโยบาย เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนและฟื้นฟูสภาพป่า จ.น่าน

Admin 20/4/2561 0
Share :