Head GISDTDA

ก.วิทย์ โดยจิสด้าดึง 2 พันธมิตรพัฒนาดาวเทียมขนาดจิ๋ว

 

 จิสด้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดสัมมนา "ความร่วมมือการพัฒนาดาวเทียมคิวบ์แซทสู่เครือข่ายการพัฒนาดาวเทียมแห่งชาติ" ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแสดงปาฐกถาของท่านรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ที่ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจุดเริ่มต้นของดาวเทียมในประเทศไทย

   ส่วนหนึ่งของปาฐกถาในวันนี้ ทำให้เราทราบว่าประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมมากว่า 25 ปี โดยเริ่มจากดาวเทียมสื่อสารที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ดาวเทียมไทยคม-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกสร้างในต่างประเทศ และส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งไทยก็ได้มีการจัดสร้างสถานีภาคพื้นดินเพื่อดำเนินการควบคุมดาวเทียมและใช้ประโยชน์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของคำว่า "ดาวเทียมของประเทศไทย" จากนั้นไทยคม-2 ไทยคม-3 และไทยคม-4 ตามกันมาเรื่อยๆ ต่อมาไม่นานประเทศไทยก็ได้ส่งวิศวกรเพื่อร่วมพัฒนาดาวเทียมสำรวจเพื่อการศึกษาขนาดเล็กที่มีชื่อว่า “ไทพัฒ” และตามมาด้วยดาวเทียมไทยโชต ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทยที่มีทีมวิศวกรกว่า 20 คน ร่วมพัฒนาดาวเทียมไทยโชตด้วย ซึ่งนอกจากสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและการบริหารจัดการดาวเทียมแล้ว ยังก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ

   จะเห็นได้ว่าไทยได้มีการพัฒนาในด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเริ่มเป็นผู้ใช้งานจนถึงการพัฒนาระบบสถานีภาคพื้นดินบางส่วนได้ด้วยตนเอง สำหรับการพัฒนาดาวเทียมคิวบ์แซท หรือ ดาวเทียมขนาดจิ๋ว เป็นการดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า นี้ ทราบว่าเป็นการออกแบบพัฒนาขึ้นเองในไทยทั้งหมด ไม่ได้มีการลอกแบบจากที่ไหน โดยถึงแม้ว่าเป็นเพียง Engineering Model (EM) แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมกันพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศ และหากเราสามารถสานต่อได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วละก็ รับรองได้เลยว่าจะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรด้านงบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยต่างผนึกกำลังขับเคลื่อนและวางแผนผลักดันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมนั่นเอง

 

Admin 28/9/2559 0
Share :