Head GISDTDA

ก. วิทย์ และ ก.เกษตร ผนึกกำลังนำ"เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจากดาวเทียม" ติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ

29 สิงหาคม 2559 ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก 5 หน่วยงานหลักประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว และGISTDA ลงนามข้อตกลงร่วมกันในการจัดการข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศให้มีเอกภาพ

     นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ข้าวพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อพื้นที่เพาะปลูกข้าว อันจะนำไปสู่การประเมินผลผลิตข้าวเพื่อการบริโภคและส่งออก ซึ่งทั้ง 5 หน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ต่างมีวิธีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่แตกต่างกัน จึงทำให้ตัวเลขที่รายงานแก่รัฐบาลมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน

   จากปัญหาดังกล่าว ทั้ง 5 หน่วยงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจากดาวเทียม ทั้งจากดาวเทียมไทยโชตและดาวเทียมดวงอื่นๆ ของ GISTDA ในการติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุก 15 วัน ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน นับว่าข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำ ซึ่งหากผนวกความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการเก็บข้อมูลภาคพื้นดินเพื่อมายืนยันผล จะยิ่งทำให้ข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้มีความแม่นยำมากขึ้น และสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

     ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การจัดทำบันทึกความร่วมมือดังกล่าว นอกจากทำให้การจัดทำข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวมีความแม่นยำ และเป็นข้อมูลเพียงชุดเดียว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าว และอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเดียวกันแล้ว ยังช่วยติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว เพื่อนำมาวางแผนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจสำคัญในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการด้าน GNSS หรือระบบนำทางด้วยดาวเทียม จากต่างประเทศที่มีความพร้อมและความชำนาญ ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำระบบ GNSS มาใช้ในภาคการเกษตร เพื่อเร่งและปรับปรุงการวางแผนด้านผลผลิตทางการเกษตรของประเทศให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย

     ปัจจุบัน ประเทศไทยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาระบบ GNSS เป็นอย่างมาก ซึ่งมีคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ หน่วยงานกลางด้านภูมิสารสนเทศของประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก โดยได้ประสานและริเริ่มให้เกิดการบูรณาการวางแผน แลกเปลี่ยน และบริหารจัดการ GNSS ตามมาตรฐานสากล นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศในการใช้เทคโนโลยีผลักดันขับเคลื่อนให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน...

Admin 29/9/2559 0
Share :