Head GISDTDA

GISTDA ส่งท้ายหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ (SCOSA) ผลักดันการเดินหน้า 3 โครงการ ในการประชุมประจำปี ณ เมืองโบฮอล สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ผู้แทน GISTDA ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานและผู้แทนประเทศไทยในการประชุมคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ ประจำปี สมัยที่ 32 (32nd Meeting of ASEAN Sub-committee on Space Technology and Application หรือ SCOSA-32) ณ เมืองโบฮอล สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยที่ประชุมเห็นชอบ 3 โครงการ เพื่อเดินหน้าการทำงานในขั้นต่อไป ได้แก่ โครงการร่วมอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อศึกษา สังเกตการณ์ และการประเมินความเสียหายของการเพาะปลูกข้าวทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน และจัดตั้ง ASEAN–China Satellite Remote Sensing Application Centre และ Space Situational Awareness and Space Traffic Management

SCOSA เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Committee on Science, Technology, and Innovation หรือ COSTI) ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือ สรรหางบประมาณ สร้างเสริมขีดความสามารถ พัฒนาความร่วมมือในภูมิภาค สนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมให้คำแนะนำ COSTI ในด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ โดยมีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเวียนดำรงตำแหน่งประธาน SCOSA ทุกๆ 3 ปี โดยวาระประธาน SCOSA ได้เวียนมาถึงไทยเมื่อปี 2564 แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้การจัดประชุม สัมมนา หรือผลักดันกิจกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยข้อจำกัด แต่ประเทศไทยโดย GISTDA ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานของ SCOSA ด้วยความมุ่งมั่นและแข็งขันตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา โดยมีการขยายต่อยอดการดำเนินกิจกรรมเดิมและผลักดันโครงการที่เกิดขึ้นใหม่จากความร่วมมือร่วมใจของรัฐสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้วาระการเป็นประธาน SCOSA ของประเทศไทย ดังนี้

• การปรับปรุงแก้ไข Terms of Reference ของ SCOSA จากเดิมรับผิดชอบในขอบเขตประเด็น Remote Sensing เท่านั้น โดยได้ขยายประเด็นให้ครอบคลุมภารกิจอวกาศ เศรษฐกิจอวกาศ และนโยบายตั้งแต่ต้นน้ำตลอดจนถึงปลายน้ำให้ทันต่อความก้าวหน้าภาคอวกาศในระดับนานาชาติ

• การจัดกิจกรรม ASEAN Space Workshop เพื่อกระตุ้นให้รัฐสมาชิกร่วมกันผลักดันกิจกรรมภายใต้เครือข่ายและรับรองข้อริเริ่มใหม่ๆ ของเครือข่าย

• การขยายความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ในโครงการ Rice Crop Damage Assessment using Earth Observation Satellite for ASEAN เพื่อศึกษา สังเกตการณ์ และการประเมินความเสียหายของการเพาะปลูกข้าวทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน (นำโดยไทยและญี่ปุ่น)

• การขยายความร่วมมืออาเซียน-จีน เพื่อผลักดันการจัดตั้ง ASEAN–China Satellite Remote Sensing Application Centre ศูนย์ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลกของจีนที่ประเทศในอาเซียนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ฟรี (นำโดยไทยและสิงคโปร์)

• โครงการ Blue Economy: Ocean Monitoring, "Workshop for Expert Exchange Modalities Inventory” การใช้ข้อมูลรีโมทเซนซิงเพื่อการใช้มหาสมุทรอย่างยั่งยืน (นำโดยอินโดนีเซีย)

• โครงการ GEMS and Pandora Utilization for Air Pollution Monitoring การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและอุปกรณ์ภาคพื้นดินเพื่อใช้ในการติดตามและวิเคราะห์ปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นำโดยฟิลิปปินส์และไทย)

• โครงการ Space Situational Awareness and Space Traffic Management มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ กระบวนการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ด้าน SSA และ STM เพื่อรักษาดาวเทียมของรัฐสมาชิกที่อยู่บนโคจร (นำโดยฟิลิปปินส์และไทย)

• โครงการ Space Policy Expert Exchange เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างเสริมขีดสามารถด้านนโยบายอวกาศ (นำโดยมาเลเซีย)

• โครงการ Assembly, Integration and Test (AIT) facilities มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลอุปกรณ์ทดสอบและประกอบดาวเทียมจากประเทศในกลุ่มอาเซียน และส่งเสริมการให้บริการด้าน AIT ร่วมกัน (นำโดยสิงคโปร์และไทย)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ASEAN-India Space Cooperation Programme/ ASEAN: Ground Station Expert Exchange/ASEAN-DBAR Cooperation Programme on Cloud-Based Sharing and Training to Use Big Earth Data/ASEAN Research and Training Centre for Space Technology and Applications (ARTSA)

ท่ามกลางการแข่งขันด้านอวกาศ ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างต้องเผชิญกับผู้เล่นจากประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอวกาศสูงซึ่งมีทรัพยากรมากกว่า การใช้เวที SCOSA เป็นพื้นที่ในการเจรจาต่อรอง การรวมจุดแข็งด้านอวกาศที่แตกต่างกันไปของแต่ละรัฐสมาชิก การแบ่งปันข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน และการฟูมฟักความร่วมมือ ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะยกระดับภารกิจด้านอวกาศ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับการประยุกต์ใช้ด้านต่างๆ ของบรรดารัฐสมาชิกให้มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กันได้

อนึ่ง ภายหลังจากการสิ้นสุดวาระของไทยในปี 2566 แล้ว เวียดนามจะรับหน้าที่ดำรงตำแหน่งประธาน SCOSA ต่อไป

phasaphong.tha 10/11/2566 0
Share :